นับแต่การทำรัฐประหารปี 2557 ในประเทศไทย ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศ ต้องตกเป็นเหยื่อของการสอดแนมข้อมูล ความรุนแรง การลักพาตัว การบังคับให้สูญหาย และการบังคับส่งกลับที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ในเวลาเดียวกัน ทางการไทยได้ทำการปราบปรามข้ามชาติต่อนักกิจกรรมไทยที่ลี้ภัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ช่วงกลางวันของวันที่ 22 สิงหาคม 2566 รถเชฟโรเลต มาลิบูสีขาว ขับเข้ามาช้า ๆ ผ่านหน้าบ้านของพรม พันนาที่จังหวัดระยอง ประเทศไทย ภายในรถมีชายสามคนที่เฝ้ามองดูผู้เห็นต่างจากรัฐชาวกัมพูชาที่เป็นผู้ลี้ภัย ขณะที่เขายืนอยู่หน้าสำนักงาน และมองกลับไปที่พวกเขา เขาสังเกตเห็นชายคนหนึ่งถ่ายรูปหลายครั้ง ขณะที่รถค่อย ๆ เคลื่อนผ่านไป เขาเริ่มรู้สึกเสียวสันหลัง ตามมาด้วยความรู้สึกอีดอัดใจอย่างมาก เขาพยายามสลัดความรู้สึกนั้นทิ้งไป เดินกลับเข้าไปในสำนักงาน พยายามทำใจว่าคงไม่มีอะไรหรอก แต่ที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาอีกหลายคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้ตกเป็นเหยื่อของการข่มขู่และการทำร้าย นับแต่รัฐบาลของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้ยึดอำนาจด้วยการทำรัฐประหารในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2557 ทำให้เขาเฝ้ามองดูประตูทางเข้าบ้านตลอด 


อีกสิบห้านาทีต่อมา รถเชฟโรเลต มาลิบูสีขาวคันนั้นกลับมาอีก 


ตอนนั้นเขารู้แล้วว่ามีบางอย่างที่ไม่ปกติ ด้วยความสงสัยและกังวล พันนากระโดดขึ้นมอเตอร์ไซค์ และขับตามรถที่ลึกลับไป เพื่อจะสอบถามว่าพวกเขาเป็นใคร ขณะที่เขาขับแซงไปข้างหน้า และจอดที่ด้านหน้ารถ ชายทั้งสามคนก็กระโจนออกมาจากรถ และเริ่มวิ่งไล่ตามเขา 

เจ้าหน้าที่คนนั้นยังเสนอตำแหน่งข้าราชการระดับสูงของรัฐบาล พร้อมกับเสนอให้เงินตอบแทนด้วย พันนาบอกว่าเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ได้ร้องขอเขาหลายครั้งให้ลาออกจากพรรค นับแต่เขาหลบหนีมาประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2565 หลังจากมีการปฏิเสธอย่างต่อเนื่อง เขาก็ถูกกดดันทางออนไลน์จากคนที่ไม่รู้จัก ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ทำร้ายร่างกาย

พันนาเป็นแอดมินของเพจเฟซบุ๊กที่ต่อต้านพรรค CPP ซึ่งมีสมาชิกกว่าครึ่งล้านคน เขายังให้ความสนับสนุนกับนักกิจกรรมฝ่ายค้านของกัมพูชาที่ลี้ภัยคนอื่น และเช่นเดียวกับสมาชิกพรรคฝ่ายค้านจากกัมพูชาจำนวนมากที่หลบหนีอยู่ในประเทศไทย หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) รับรองสถานะผู้ลี้ภัยของเขา ในช่วงที่ถูกทำร้าย พันนาอยู่ระหว่างเตรียมตัวลี้ภัยไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา

“ผมกังวลกับความปลอดภัยของตัวเองมาก” เขากล่าวหลังเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายในเดือนสิงหาคม “ผมอาจถูกอุ้มหายหรือถูกเนรเทศ [กลับไปกัมพูชา] ตอนไหนก็ได้” เขาหวังว่า ไม่ว่าใครที่มีส่วนรับผิดชอบและยอมให้ผู้เห็นต่างจากรัฐแบบเขา ต้องตกเป็นเหยื่อการทำร้ายในประเทศไทย จะต้องถูกสอบสวนและต้องรับผิด

ความเป็นมาของการปราบปราม

จากที่เคยเป็นแหล่งพักพิงอันปลอดภัยของผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้านและอื่น ๆ ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้กลายเป็นประเทศที่ขาดความปลอดภัยมากขึ้นสำหรับผู้ที่หลบหนีมาจากการประหัตประหารในประเทศของตน ผู้เห็นต่างจากรัฐและนักกิจกรรมที่ลี้ภัยจำนวนมากได้ตกเป็นเหยื่อของการคุกคามและการข่มขู่ การสอดแนมข้อมูล และความรุนแรงทางกาย ซึ่งเกิดขึ้นข้ามพรมแดน โดยมักเป็นที่รับรู้และมีการรู้เห็นเป็นใจจากทางการไทย ในบรรดาบุคคลเหล่านี้ สมาชิกพรรคฝ่ายค้านและนักกิจกรรมชาวกัมพูชามีสัดส่วนขนาดใหญ่ จากกรณีที่มีการเก็บข้อมูลของฮิวแมนไรท์วอทช์ ตามข้อมูลด้านล่าง การปฏิบัติเช่นนี้ได้รับการสนับสนุนจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและทางการไทย กับอดีตรัฐบาลฮุนเซนในกัมพูชา

นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชา เดินทางไปถึงพระราชวังสันติภาพที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา วันที่ 7 กันยายน 2560

© 2017 Tang Chhin Sothy/AFP via Getty Images

เชื่อกันมานานแล้วว่า รัฐบาลหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำความตกลงแบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย หรือที่มักเรียกกันว่า ความตกลง “ตลาดแลกเปลี่ยน” จากการติดตามข้อมูลและรายงานสื่อช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฮิวแมนไรท์วอทช์พบว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดเพิ่มขึ้นมากภายหลังการทำรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม ปี 2557 ในประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลทหารในนามคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ซึ่งเข้าสู่อำนาจ และภายหลังปี 2562 สมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรองนายกรัฐมนตรีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ มีหลักฐานเพิ่มขึ้นมากของการปราบปรามที่มีเป้าหมายเป็นพลเมืองต่างชาติที่แสวงหาความคุ้มครองต่อผู้ลี้ภัยในประเทศไทย รวมทั้งพลเมืองไทยซึ่งลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งลาว กัมพูชา และเวียดนาม

ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้วิเคราะห์ 25 กรณีที่เป็น การปราบปรามข้ามชาติ ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยระหว่างปี 2557 และ 2566  

คำว่า“การปราบปรามข้ามชาติ” บางครั้งอาจหมายถึงการปราบปรามนอกพรมแดน โดยเป็นความพยายามของรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เป็นตัวแทนเพื่อปิดปาก หรือสร้างความหวาดกลัวให้ผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยมีการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนที่กระทำต่อพลเมืองของตนเอง หรือสมาชิกของชุมชนคนต่างชาติในประเทศที่อยู่นอกเหนือเขตอำนาจศาลของตน การปฏิบัติมิชอบเหล่านี้รวมถึงการสอดแนมข้อมูล การคุกคาม ความรุนแรง การลักพาตัว การบังคับให้สูญหาย การบังคับส่งกลับ การปราบปรามข้ามชาติทางดิจิทัล และการคุกคามสมาชิกในครอบครัว 

ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้สัมภาษณ์เหยื่อ 18 คนและครอบครัว รวมทั้งพยานที่รู้เห็นการปฏิบัติมิชอบที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศและระหว่างประเทศ ทางการไทยยังได้สนับสนุนช่วยเหลือการทำร้ายร่างกาย การลักพาตัว การบังคับให้สูญหาย และการปฏิบัติมิอื่น ๆ เป็นการละเมิดซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อหลักการไม่ส่งกลับ ซึ่งเป็นข้อห้ามไม่ให้ส่งตัวบุคคลกลับไปยังดินแดน ที่มีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่าจะตกเป็นเหยื่อของการประหัตประหาร การทรมาน หรือการปฏิบัติที่โหดร้ายที่ร้ายแรงอย่างอื่น หรือการคุกคามต่อชีวิต ประเทศที่รับผิดชอบต่อการปราบปรามข้ามชาติที่กระทำต่อพลเมืองของตนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมถึงประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รวมทั้งจีนและบาห์เรน และอื่น ๆ

แม้จะได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากการรับรองของ UNHCR ทางการไทยยังคงเนรเทศผู้วิจารณ์และผู้เห็นต่างจากรัฐที่ลี้ภัยที่มีชะตากรรมไม่แน่นอน ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ การปฏิบัติเหล่านี้ละเมิดต่อข้อบทที่ห้ามการส่งกลับตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยให้สัตยาบันรับรอง รวมทั้ง อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ทั้งยังละเมิดกฎหมายในประเทศของไทย นับแต่ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยมาตรา 13 ระบุว่า: 

ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้น จะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย

Thai military stand guard during anti-coup protests as Gen. Prayut Chan-ocha receives the Royal Endorsement as the military coup leader in Bangkok, Thailand, May 26, 2014.
A woman (left) sits inside a police van after being detained by police for holding an anti-coup placard in Bangkok, Thailand, on May 29, 2014.

ภาพแรก: ทหารไทยยืนรักษาการระหว่างการประท้วงต่อต้านการทำรัฐประหาร ในขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้รับการพระราชทานตำแหน่งในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย วันที่ 26 พฤษภาคม 2557    ภาพที่สอง: ผู้หญิง (ด้านซ้ายมือ) นั่งอยู่ในรถตู้ของตำรวจ หลังถูกควบคุมตัวจากการชูป้ายประท้วงการทำรัฐประหาร ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย วันที่ 29 พฤษภาคม 2557   

© 2014 Paula Bronstein/Getty Images and 2014 Nick McGrath/Getty Images

ฤดูล่าสัตว์

หลังจากผู้บัญชาการทหารบก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจในปี 2557 ผู้เห็นต่างชาวจีนในไทยเริ่มหายตัวไปทีละคนสองคน ข้อมูลที่มีอยู่ชี้ว่า ทางการไทยมักขึ้นบัญชีคนเหล่านี้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นไปตามคำร้องขอของรัฐบาลจีนเพื่อให้จับกุมและส่งตัวกลับไปประเทศจีน

ในเดือนพฤศจิกายน2558 เจียงยี่เฟย และ ตงกวงปิง นักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตย และครอบครัวของพวกเขาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ระหว่างที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาทางการเมืองในประเทศจีน ชายทั้งสองคนได้ตกเป็นเหยื่อการปราบปรามทางการเมืองในประเทศจีนมาแล้วเป็นเวลาหลายปี ตงเคยติดคุกสามปี ตั้งแต่ปี 2544 ถึง 2547 ในข้อหา “ยุยงให้มีการยึดอำนาจรัฐ” ในเดือนกรกฎาคม 2557 เขาถูกควบคุมตัวเป็นเวลาแปดเดือน หลังไปเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงเหยื่อจากการรปะท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 2532

เจียงเป็นนักเขียนการ์ตูนการเมือง เขาอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2551 หลังจากถูกคุกคาม ถูกจับกุมโดยพลการ และถูกทรมาน เนื่องจากการวิจารณ์แนวทางปฏิบัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนขณะที่เกิดเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวนในปี 2551 เขาจึงได้ขอและต่อมาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ในเดือนเมษายน 2558

ตงเดินทางมาถึงประเทศไทยในเดือนกันยายน 2558 และได้ขอและต่อมาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากUNHCRที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ดีในวันที่ 28 ตุลาคม 2558 เพียงไม่กี่วันก่อนกำหนดเดินทางไปแคนาดา เพื่อไปลี้ภัยที่นั่น ตำรวจไทยจับกุมชายทั้งสองคนเสียก่อน พวกเขาถูกพาตัวไปยังสถานกักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลู กรุงเทพฯ ทันที ซึ่งเป็นที่กักตัวของผู้ต้องกักที่ ตกเป็นเหยื่อของการปฏิบัติมิชอบและการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างต่อเนื่อง

การจับกุมเกิดขึ้น แม้ว่าสถานเอกอัครราชทูตแคนาดาในกรุงเทพฯ ได้ส่งจดหมายแจ้งอย่างเป็นทางการไปยังกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐบาลไทย เพื่อแจ้งให้ทราบว่าบุคคลทั้งสองจะได้ลี้ภัยไปอยู่ที่แคนาดา เอกอัครราชทูตแคนาดายังได้โทรศัพท์แจ้งต่อปลัดกระทรวงการต่างประเทศโดยตรง เพื่อเน้นย้ำข้อกังวลของเขา

ชายทั้งสองคนคาดว่าจะได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากมีสถานะผู้ลี้ภัยของ UNHCR และจะได้ลี้ภัยไปอยู่ที่แคนาดา แต่ในตอนเช้าของวันที่ 12 พฤศจิกายน2558 เจ้าหน้าที่จีนที่ไม่ปรากฏชื่อสองคนได้เข้าเยี่ยมชายทั้งสองคนที่สถานกักตัว ตามข้อมูลของภรรยาของเจียงยี่เฟย ในวันต่อมา เจ้าหน้าที่ไทยได้ เนรเทศผู้ลี้ภัยทั้งสองคนกลับไปประเทศจีนอย่างรวบรัด และพวกเขาได้ถูกควบคุมตัวเมื่อเดินทางไปถึงประเทศจีน

ต่อกรณีการเนรเทศครั้งนี้ UNHCR แถลงว่า “การปฏิบัติของประเทศไทยทำให้เกิดความเสียใจอย่างมาก และเน้นให้เห็นช่องว่างที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานในกฎหมายของไทย เกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเหมาะสมต่อบุคคลที่มีความต้องการการคุ้มครองระหว่างประเทศ”

จูหลิงและกูชู ภรรยาของเจียงยี่เฟยและตงกวงปิง ผู้เห็นต่างชาวจีน เดินทางจากประเทศไทยไปแคนาดาเพื่อขอรับความคุ้มครอง ในขณะที่สามีของพวกเธอถูกจับกุมและเนรเทศไปจีน แม้จะมีสถานะผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติ โตรอนโต แคนาดา 8 ธันวาคม 2558 

© 2015 Steve Russell/Toronto Star via Getty Images

เดือนกรกฎาคม 2561 ศาลในประเทศจีน ตัดสินว่าตงมีความผิด และต้องใช้โทษจำคุกเป็นเวลาสามปีครึ่ง เขาได้รับการปล่อยตัวหลังจากใช้โทษเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ต่อมาเขาได้หลบหนีจากจีนในเดือนมกราคม 2563 ไปเวียดนาม แต่ทางการเวียดนามได้ จับกุมเขา ที่กรุงฮานอยเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 และส่งตัวกลับไปประเทศจีน

แคทเธอรีน ตง ลูกสาวของตง แจ้งกับสื่อมวลชนว่า รัฐบาลจีนไม่แจ้งให้ครอบครัวทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ของเขา หรือเหตุใดจึงมีการควบคุมตัวเขา สุดท้ายแล้ว ในเดือนตุลาคม 2566 ตงได้รับการปล่อยตัวหลังติดคุกอยู่ 11 เดือนในข้อหาเดินทางข้ามพรมแดนประเทศอย่างผิดกฎหมาย ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ในประเทศจีน โดยยังคงตกเป็นเป้าหมายของการสอดแนมข้อมูลอย่างใกล้ชิดจากทางการ 

หลังจากประเทศไทยบังคับส่งกลับนักกิจกรรมชาวจีนสองคนกลับไปประเทศจีน รองนายกรัฐมนตรีประวิตร วงษ์สุวรรณของไทยในขณะนั้น ซึ่งดูแลงานด้านความมั่นคงและผู้ลี้ภัย แจ้งต่อตัวแทนของ UNHCR ว่า ในตอนนั้นเขาไม่ทราบว่าชายทั้งสองคนมีสถานะผู้ลี้ภัย และต่อมา ยังได้อ้างแบบเดียวกันกับสื่อมวลชน แต่จดหมายที่ UNHCR ส่งถึงกระทรวงการต่างประเทศของไทยขัดแย้งกับถ้อยแถลงของประวิตร โดยมีการระบุว่า ได้แจ้งเตือนต่อรัฐบาลไทยตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายนว่า ชายทั้งสองคนเป็นผู้ลี้ภัย ส่วนภรรยาและลูกของพวกเขาก็ได้ บินไปอยู่ที่แคนาดาในฐานะผู้ลี้ภัย ไม่นานหลังจากเจียงและตงถูกบังคับส่งกลับไปประเทศจีน ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 เจียงใช้โทษจนครบ ในประเทศจีน และเมื่อได้รับการปล่อยตัวก็ได้ถูก “จำกัดสิทธิทางการเมือง”  

รัฐบาลจีนยังมีเป้าหมายเป็นผู้วิจารณ์ชาวจีนคนอื่นในประเทศไทย นอกเหนือจากตงและเจียง ในปี 2558กุยมินไฮ ผู้จัดพิมพ์และผู้เขียนหนังสือสัญชาติฮ่องกงและสวีเดนได้ หายตัวไป ระหว่างพักอาศัยอยู่ที่พัทยา ประเทศไทยในเดือนตุลาคมในปีเดียวกัน

ทางการไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ของเขาเป็นเวลาหลายเดือน ต่อมากุย ก็ปรากฏตัว ขึ้นมาอย่างฉับพลันในเดือนมกราคม 2559 ทางโทรทัศน์แห่งชาติของจีน โดยเขาระบุว่า เขา “ไปเกี่ยวข้องกับการเมาแล้วขับ”ในประเทศจีนภาพวิดีโอที่ออกอากาศแสดง ลักษณะที่เป็นการบังคับให้รับสารภาพ ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าทางการไทยมีบทบาทเกี่ยวข้องอย่างไรกับการส่งตัวเขากลับไปประเทศจีน  

ในเดือนกรกฎาคม 2558 ทางการไทยเนรเทศ ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์อย่างน้อย 109 คน จากสถานกักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลู กรุงเทพฯ กลับไปประเทศจีน ชาวอุยกูร์ยืนยันว่าพวกเขาเป็นพลเมืองของตุรกี และต้องการให้ปล่อยตัวเพื่อจะเดินทางไปที่ตุรกี ในขณะที่สถานเอกอัครราชทูตตุรกีในกรุงเทพฯ ก็ให้เหตุผลสนับสนุนคำร้องขอของพวกเขา แต่เจ้าหน้าที่ไทยกลับนำตัวจากศูนย์กักตัวห้าแห่งทั่วประเทศไทย ไปยังสนามบินทหารทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ ก่อนจะส่งตัวให้กับเจ้าหน้าที่จีนเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 จากนั้นก็โดยสารเครื่องบินของรัฐบาลจีนกลับไป โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจีนหลายสิบนายตามประกบตัวไปด้วย 

109 Chinese migrants were repatriated from Thailand, July 12, 2015.
109 Chinese migrants were repatriated from Thailand, July 12, 2015.

ผู้เข้าเมืองชาวจีน 109 คนถูกส่งตัวกลับจากประเทศไทย วันที่ 12 กรกฎาคม 2558 

© 2015 CCTV

ตามคำแถลงของโฆษกรัฐบาลไทย ชาวอุยกร์ทั้ง 109 คนได้ถูกเนรเทศ "ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนปฏิบัติ” หลังจากทางการจำแนกได้แล้วว่าประเทศอันภูมิลำเนาของพวกเขาเป็นประเทศจีน และปฏิเสธคำร้องขอของพวกเขาที่ต้องการเดินทางไปประเทศตุรกี ทางการไทยจับกุมชาวอุยกูร์ทั้งหมดประมาณ 350 คน รวมทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ซึ่งเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2556

ปัจจุบันยังคงมีชายชาวอุยกูร์อย่างน้อย 43 คนที่ยังคงถูกกักตัวต่อไปโดยไม่มีเวลากำหนด ในสถานกักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลู เพื่อรอการเนรเทศ หลังการเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีอีกห้าคนที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำ จากการถูกศาลลงโทษเนื่องจากพยายามหลบหนีออกจากสถานกักตัว ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์เหล่านี้ไม่ได้ถูกควบคุมตัวตามข้อหาใด ๆ เพราะพวกเขาได้ใช้โทษในข้อหาเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจนครบแล้ว แต่ยังคงถูกกักตัวต่อไปเพื่อรอการเนรเทศ 

เป็นเวลากว่า 10 ปีมาแล้วที่เจ้าหน้าที่ไทยได้เริ่มจับกุมพวกเขา แต่ทางหน่วยตรวจคนเข้าเมืองยังคงไม่อนุญาตให้พวกเขาเข้าถึงทนายความ ครอบครัวและบุคคลอื่นใด 

เซียงลี นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนจากประเทศจีน หลบหนีออกมาในเดือนมกราคม2561 เพื่อมายังประเทศไทย และหลบหนีการจับกุมและโทษจำคุก ซึ่งเป็นผลมาจากการประท้วงการจับกุมกลุ่มทนายความสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการที่เธอเข้าร่วมจัดกิจกรรมรำลึก การกวาดล้าง “709” ปฏิบัติการปราบปรามทนายความและและนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศในจีน เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม2558 ส่งผลให้มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 300 คนในประเทศจีน

“ดิฉันหลบหนีออกมาจากจีน ด้วยการลักลอบออกมา” เซียงบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ “หลังผ่านไปสองสามเดือน ดิฉันก็เดินทางมาถึงประเทศไทย และข้ามพรมแดนมาได้” 

ตามข้อมูลของเซียง เธอว่าจ้างคนขับรถให้พาเธอไปที่สนามบินระหว่างประเทศ แต่เขากลับพาตัวเธอไปที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ไทยได้ควบคุมตัวเธอไว้ในห้องกักขนาดเล็กบริเวณพรมแดนไทยที่ไม่ปรากฏชื่อเป็นเวลาสามเดือน เธอต้องอยู่ในสภาพที่ขาดสุขอนามัย ต้องกินอาหารแห้ง และมักไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที เธอกล่าว 

ในเดือนกรกฎาคม 2561 เจ้าหน้าที่ได้ย้ายเธอไปที่สถานกักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลู ในตอนนั้น เธอเริ่มได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศหลายแห่ง UNHCR และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ที่ทำงานเพื่อเร่งให้มีการส่งตัวเธอไปลี้ภัยที่สหรัฐอเมริกา แต่ทันทีที่เดินทางมาถึงสถานกักตัว เธอบอกว่าเธอก็เริ่มตกเป็นเป้าหมายของเจ้าหน้าที่ชาวจีน ซึ่งเธอเรียกว่าเป็นพวก “สายลับของ CCP” ซึ่งหมายถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีน

“ทุกคืน ‘ผู้ต้องกัก’ ชาวจีนคนนี้จะมาที่ห้อง และจ้องมองดูดิฉัน เขาเอาแต่จ้องมองและใช้กล้องถ่ายรูปดิฉันไว้” เธอกล่าว “ทุกคืนดิฉันจะต้องเห็นสายลับคนนี้” เซียงเชื่อว่า บุคคลดังกล่าวส่งข้อมูลและรูปถ่ายของเธอไปให้กับสถานเอกอัครราชทูตจีน ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 เจ้าหน้าที่ไทยแจ้งกับเธอว่า เธอสามารถบินไปสหรัฐอเมริกาได้แล้ว หลังได้รับวีซา แต่ในขณะที่เธอกำลังเดินทางออกจากสถานกักตัว เจ้าหน้าที่ตม.ก็ได้ขัดขวางไม่ให้ไป โดยบอกว่าตั๋วของเธอถูกยกเลิกไปแล้วตามคำร้องขอของสถานเอกอัครราชทูตจีน

วันต่อมา เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตจีนสี่คนเดินทางมาที่สถานกักตัว และขอพูดคุยกับเธอ พวกเขาพยายามบังคับให้เธอเซ็นชื่อในเอกสารที่มีเนื้อหาคลุมเครือ แต่เซียงปฏิเสธและบอกให้พวกเขากลับไป สุดท้ายในวันที่ 27 กรกฎาคมเจ้าหน้าที่ไทยก็ยินยอมและอนุญาตให้เธอบินไปที่สหรัฐอเมริกา

“ดิฉันรู้ว่ามี [ผู้เห็นต่างชาวจีนจำนวนมากซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย] แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะไปตามหาพวกเขาที่บ้าน และบอกให้พวกเขาหยุดพูด” เธอกล่าว “ถ้าคุณยังพูดต่อไป คุณก็จะถูกจับ และถูกบังคับส่งตัวกลับไปประเทศจีน”

สถานกักตัวคนต่างด้าว ถนนสาทร กรุงเทพฯ ซึ่งนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนเชื่อว่า เป็นที่กักตัวกลุ่มชาวอุยกูร์ วันที่ 30 กันยายน 2565 

© 2022 Jack Taylor/AFP via Getty Images

ข้อตกลงติดตามบุคคลผู้หลบหนีกระบวนการทางกฎหมาย

ในเดือนมีนาคม 2561 ฮุนเซน นายกฯ กัมพูชาในขณะนั้น และประยุทธ์ นายกฯ ไทยในขณะนั้น ได้ลงนามใน ข้อตกลงติดตามบุคคล “ผู้หลบหนีกระบวนการทางกฎหมาย” ที่ยังเป็นความลับ เพื่ออนุญาตให้มีการแลกเปลี่ยนตัวผู้หลบหนีกระบวนการทางกฎหมายในแต่ละประเทศ ซึ่งก็มักรวมถึงผู้เห็นต่างจากรัฐที่ลี้ภัยและผู้วิจารณ์รัฐบาลทั้งสองประเทศ ปลายเดือนดังกล่าว เตีย บัญ รองนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหมของกัมพูชาในขณะนั้น ได้มาเยือนกรุงเทพฯ และ ประชุมกับ ประยุทธ์และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทย

หลังมีความตกลงไม่กี่เดือน มีรายงานเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก ผู้เห็นต่างจากรัฐชาวกัมพูชาที่ต้องตกเป็นเหยื่อของการสอดแนมข้อมูล การจับกุม และการบังคับส่งกลับไปกัมพูชา กลุ่มที่มักตกเป็นเป้าหมาย รวมถึงนักกิจกรรมจากพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชา (CNRP) ที่เป็นฝ่ายค้านซึ่งลี้ภัยในกรุงเทพฯ  และจังหวัดใกล้เคียง และยังคงโพสต์ข่าวและข้อมูลเกี่ยวกับกัมพูชาในโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก 


นับแต่นั้นมา ได้เกิดกรณีของนักกิจกรรมทางการเมืองชาวกัมพูชาหลายคน ซึ่งมักมีสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ที่ไม่ถูกเนรเทศอย่างรวบรัดจากประเทศไทยกลับไปกัมพูชา ซึ่งเป็นการละเมิดหลักการไม่ส่งกลับ ก็ถูกจับกุมและสามารถหนีรอดจากการเนรเทศได้อย่างเฉียดฉิว จากความช่วยเหลือของกลุ่มภาคประชาสังคม นักการทูต และหน่วยงานสหประชาชาติซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ สมาชิกพรรค CNRP ยังรายงานว่า ได้ตกเป็นเป้าหมายของการสอดแนมข้อมูลการเคลื่อนไหวของทั้งทางการไทย รวมทั้งคนที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกัมพูชา  


นักกิจกรรมที่ลี้ภัยจากประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายงานว่าตกเป็นเป้าหมายระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย ผู้เห็นต่างจากรัฐชาวเวียดนามตกเป็นเป้าหมายการติดตามและถูกอุ้มหาย ผู้รณรงค์เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิชาวลาวได้หายตัวไป หรือ ถูกสังหารในแผ่นดินไทย อินฟลูเอ็นเซอร์ชาวมาเลเซียที่สนับสนุนสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้ตกเป็นเป้าหมายของการส่งกลับ แต่รอดพ้นมาได้ เพราะออสเตรเลียยินยอมให้เธอลี้ภัยไปอยู่อาศัย ทางการไทยยังจับกุม ฮาคิม อัล อาไรบี นักฟุตบอลอาชีพจากบาห์เรน ซึ่งมีสถานะผู้ลี้ภัยของออสเตรเลีย และเกือบจะถูกส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังบาห์เรน แต่มี การรณรงค์ระดับโลก มาช่วยไว้ได้ รวมทั้งความสนับสนุนจากสหพันธ์ฟุตบอลอาชีพอย่างฟีฟา รัฐบาลประเทศต่าง ๆ และนักกิจกรรมที่โน้มน้าวให้ประเทศไทยไม่บังคับส่งกลับตัวเขาไปบาห์เรน 

ในเวลาเดียวกัน นักกิจกรรมทางการเมืองชาวไทยที่เป็นฝ่ายซ้าย ซึ่งหลบหนีออกไปหลังกองทัพทำรัฐประหารก็ได้หายตัวไประหว่างอยู่ในลาวและกัมพูชา ต่อมามีผู้พบศพที่มีบาดแผลมากมายของนักกิจกรรมทั้งสองคน ลอยอยู่ในแม่น้ำโขง

ตำแหน่งที่เกิดเหตุการณ์การปราบปรามข้ามชาติ มีผู้ตกเป็นเหยื่อรวมถึงผู้เห็นต่างและผู้วิจารณ์ซึ่งพยายามแสวงหาความคุ้มครองในประเทศไทย และนักกิจกรรมชาวไทยที่ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน 

© 2024 ฮิวแมนไรท์วอทช์

การบังคับให้สูญหาย 

การบังคับให้สูญหายมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งกับผู้ลี้ภัยในประเทศไทยนับแต่ปี 2557 ในวันที่ 26 สิงหาคม 2562 อ๊อด ไชยะวง ผู้ลี้ภัยชาวลาว และผู้วิจารณ์คนสำคัญต่อรัฐบาล หายตัวไปในย่านบึงกุ่ม กรุงเทพฯ นักกิจกรรมวัย 34 ปีเป็นแกนนำกลุ่ม 'ลาวเสรี' รวมทั้งสหพันธ์สหภาพแรงงานเอกภาพลาว ซึ่งเป็นเครือข่ายของแรงงานข้ามชาติและนักกิจกรรมจากลาว ซึ่งรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ระหว่างลี้ภัยในประเทศไทย 

หลังจากอ๊อดหายตัวไป เพื่อนร่วมงานได้ไปแจ้งความกับตำรวจไทยเมื่อวันที่ 2 กันยายน แต่ตำรวจไม่ได้ใส่ใจต่อการสอบสวนมากนัก ตามข้อมูลของทนายความที่ทำงานอย่างใกล้ชิดในคดีของอ๊อด ตำรวจไทย แจ้งกับครอบครัวของเขา ว่า ได้มีการปิดคดีในเดือนมีนาคม 2565 เนื่องจากไม่พบพยานหลักฐานที่จะทำคดีต่อไปได้ 

อ๊อด ไชยะวง ผู้ลี้ภัยจากลาวและผู้ที่มักวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลาว ถูกบังคับให้สูญหายในกรุงเทพฯ วันที่ 26 สิงหาคม 2562 

© 2019 ภาพส่วนบุคคล

ในช่วงที่เขาหายตัวไป อ๊อดมีสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ในประเทศไทย และประสงค์จะ ลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม เขาได้เข้าร่วมในการประท้วงของกลุ่มลาวเสรีหลายครั้งที่ด้านหน้าของสถานเอกอัครราชทูตลาวในกรุงเทพฯ และมักกล่าวปราศรัยในระหว่างกิจกรรมและในโซเชียลมีเดีย กลุ่มของเขายังประท้วงเพื่อเรียกร้องรัฐบาลลาว ให้ยอมรับสิทธิของผู้เสียหายจากการเวนคืนที่ดินของรัฐบาล และจากกรณีเขื่อนแตกซึ่ง ตามรายงานข่าวทำให้หลายร้อยคนสูญเสียที่ดินและอาชีพ อ๊อดยังรณรงค์ให้ปล่อยตัวคนงานที่ต้องโทษจำคุกเป็นเวลานานในลาวในเดือนเมษายน 2560 เนื่องจากการออกมาวิจารณ์รัฐบาลลาวระหว่างที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย เขายังเรียกร้องให้มีการสอบสวนกรณีการบังคับให้สูญหายต่อสมบัด สมพอน แกนนำภาคประชาสังคมของลาวซึ่ง ถูกอุ้มหายที่สถานีตำรวจ ในกรุงเวียงจันทน์เมื่อปี 2555

สามเดือนหลังการหายตัวไปของอ๊อด เพชรภูธร พิละจัน สมาชิกกลุ่มลาวเสรีอีกคนหนึ่ง ซึ่งเคยอยู่บ้านเดียวกันและเป็นเพื่อนกับอ๊อดก็หายตัวไป หลังเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปเยี่ยมครอบครัวที่กรุงเวียงจันทน์ กลุ่มขององค์กรพัฒนาเอกชนรายงานเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ว่า เขาหายตัวไปตั้งแต่นั้นมา

เอมิลี่ ปาลามี ประดิจิต ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิมานุษยะ ซึ่งสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งและสิทธิมนุษยชนของชุมชน บอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า นักกิจกรรมทางการเมืองชาวลาวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ตกเป็นเป้าหมายจากรัฐบาลลาวในหลายโอกาส

“การกำหนดเป้าหมายเป็นนักกิจกรรมชาวลาวที่อยู่นอกพรมแดนประเทศ เน้นให้เห็นอันตรายของการปราบปรามข้ามชาติ” ประดิจิตกล่าว “เป็นคำเตือนอย่างจริงจังว่ารัฐบาลเผด็จการจะไม่ยอมยุติที่จะหาทางปิดปากผู้วิจารณ์” 

ภายหลังการลักพาตัวอ๊อด ไชยะวง และนักกิจกรรมชาวลาว ประดิจิตและสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ร่วมมือกับทางการไทยเพื่อสอบสวนการหายตัวไปของอ๊อด ได้มีการยื่น จดหมายร่วมและข้อกล่าวหา ต่อทางการไทย แต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง 

Duong Van Thai, a Vietnamese rights activist and independent journalist.
A notification letter was issued to Duong Van Thai’s family by Vietnamese officials to inform them of his arrest.

ภาพแรก: เดือง วัน ไถ่ นักกิจกรรมด้านสิทธิและผู้สื่อข่าวอิสระชาวเวียดนาม ภาพที่สอง: จดหมายที่เจ้าหน้าที่เวียดนามส่งให้กับครอบครัวของเดือง วัน ไถ่ เพื่อแจ้งว่าจะมีการจับกุมตัวเขา 

© เดือง วัน ไถ่/ยูทูบ และภาพส่วนบุคคล

หลายวันหลังการลักพาตัวเขา เพื่อนชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เดินทางไปที่บ้านของเดื่อง วาน ไถ เพื่อค้นหาตัวเขาเพราะเขาไม่ยอมรับโทรศัพท์หรือไม่ยอมส่งข้อความกลับมา พวกเขาได้พบกระเป๋าเงินของเขาพร้อมกับบัตร UNHCR และบัตรเอทีเอ็มที่ยังอยู่ในกระเป๋า และได้พบคอมพิวเตอร์แล็บท็อป และอุปกรณ์ส่วนตัวที่สำคัญอื่น ๆ อยู่ในบ้าน แสดงว่าเขาไม่ได้มีเจตนาจะเดินทางกลับไปเวียดนาม ตามที่รัฐบาลเวียดนาม กล่าวหา สามวันหลังการลักพาตัวเขา ทางการเวียดนาม อ้างว่าเขาถูกจับกุมเนื่องจากเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย 

ตำรวจเวียดนาม รายงานว่า เจ้าหน้าที่ที่อำเภอเฮืองสอน จังหวัดฮาตินห์ เป็นผู้กักตัวเขาไว้ อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลของรัฐบาลเวียดนามเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ได้มีการส่งหมายจับกุมและควบคุมตัวไปให้กับญาติของเขาในเวียดนาม โดยเจ้าหน้าที่ระบุที่อยู่ของเดื่อง วาน ไถในกรุงเทพฯ แสดงว่าทางการทราบข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ของเขาอย่างแม่นยำ 

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่เวียดนามยังได้ส่งหมายไปยังครอบครัวของเขาในเวียดนามเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมระบุว่าเขาจะถูกควบคุมตัวจนถึงวันที่ 12 สิงหาคม ตาม กฎหมายเวียดนาม การควบคุมตัวเพื่อรอการพิจารณาในคดีร้ายแรงสามารถทำได้ไม่เกินสี่เดือน และสามารถขยายเวลาต่อไปได้ เป็นที่สังเกตว่าเขาถูกอุ้มหายในประเทศไทยในวันที่ 13 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นเวลาสี่เดือนพอดีก่อนจะถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2566

ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้วิเคราะห์วิดีโอเกี่ยวกับการลักพาตัวเดื่อง วาน ไถ ซึ่งมีภาพของผู้ชายหลายคนที่พยายามลากและดึงผู้ชายอีกคนหนึ่งที่ตะโกนร้อง เพื่อบังคับให้เข้าไปในรถยนต์ 

เพื่อนของเดื่อง วาน ไถและกลุ่มสิทธิรายงานว่า ก่อนการลักพาตัวเขา เขากลัวการประหัตประหารเนื่องจากได้โพสต์วิดีโอซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเวียดนาม เขา บอกกับเพื่อนคนหนึ่ง ว่าในวันที่ 6 เมษายน 2566 ชายคนหนึ่งได้ขี่มอเตอร์ไซค์ไปที่บ้านเขา และได้ถ่ายรูปเขาไว้ ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ทางการเวียดนาม ได้แจ้งข้อหาต่อเขาฐานละเมิดมาตรา 117 ของประมวลกฎหมายอาญาจากการดำเนินงาน “โฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านรัฐ” เขายังคงถูกตำรวจควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณา แต่ได้รับอนุญาตให้พบกับแม่ครั้งหนึ่งในเดือนมกราคม 2567.

การสอดแนมข้อมูล และทีมอุ้มหาย

ฮง เกวียน บัค รออยู่ที่ชั้นบนที่มีหน้าต่างกระจกบานใหญ่ในโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ ทำให้สามารถมองเห็นรถยนต์ที่เข้ามาในด้านหน้าของอาคารที่มีรถพลุกพล่านได้ นักกิจกรรมทางการเมืองชาวเวียดนามที่กำลังลี้ภัย กำลังเฝ้ามองดูรถยนต์ของภรรยาเขา ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ พวกเขาได้ตกลงกันลับ ๆ ที่จะมาพบกันที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจดูอาการของลูก เหตุที่ต้องมีการวางแผนอย่างระมัดระวัง เพราะเขาพบว่ากำลังถูกติดตามตัวโดย “ชายชาวเวียดนามลึกลับหลายคน” เขาบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์

ตอนที่รถของครอบครัวเขาเข้ามาในโรงพยาบาล เขาเห็นภรรยาและลูกสาวสองคนเดินออกมาจากรถ และเดินไปที่อาคาร แต่เขาสังเกตเห็นบางอย่างที่ทำให้ใจหล่นไปอยู่ตาตุ่ม  

“ตอนที่ครอบครัวผมมาถึงโรงพยาบาล มีรถสีขาวตามเข้ามาด้วย” เขาบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ ในเดือนสิงหาคม 2566 “หลังครอบครัวผมออกไปแล้ว ก็มีตำรวจไทยเดินออกมาจากรถสีขาวเช่นกัน และพวกเขาได้เดินตามครอบครัวของผมเข้ามาในโรงพยาบาล หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่เวียดนามหนึ่งคนที่ออกจากรถสีขาวคันเดียวกัน” 

ฮง เกวียน บัค ได้หลบหนีจากเวียดนามในเดือนพฤษภาคม 2560 ตอนที่ทางการได้ออกหมายจับตัวเขาในข้อหา “ก่อความไม่สงบเรียบร้อยต่อสาธารณะ” หลังจากเขาเป็นแกนนำการประท้วงเพื่อวิจารณ์ การปล่อยกากของเสียของโรงงานเหล็กฟอร์โมซา ฮา ตินห์  ซึ่งทำให้เกิดมลพิษในพื้นที่ชายฝั่งตอนกลางของเวียดนาม

แต่การสอดแนมข้อมูลไม่ได้เริ่มขึ้น จนกระทั่งเขา ช่วยเหลืองานของ เจือง ซุย เญิ๊ต ซึ่งเป็นนักเขียนของสำนักข่าว Radio Free Asia  

เจือง ซุย เญิ๊ต บล็อกเกอร์ที่เข้ารับการพิจารณาในศาลประชาชนในเมืองดานัง เวียดนาม วันที่ 4 มีนาคม 2557

© 2014 Vietnam News Agency/AFP via Getty Images

เจือง ซุย เญิ๊ต 57 ปี อดีตผู้สื่อข่าวซึ่งมีชื่อเสียงฐานวิจารณ์รัฐบาลเวียดนามผ่านเว็บบล็อก เขาหลบหนีมาประเทศไทยในเดือนมกราคม 2562 เพื่อหลบหนีจากการดำเนินคดีอาญาหลายข้อหา รวมทั้ง “การใช้อำนาจและ/หรือหน้าที่อย่างมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ” บัคได้ช่วยหลือเขาตอนที่เขาเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ โดยจัดหาที่พักและขอรับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ในประเทศไทย จากนั้นในวันที่ 26 มกราคม เญิ๊ต ได้หายตัวไประหว่างอยู่ในห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ เพียงหนึ่งวันหลังจากเขาได้ขอรับสถานะผู้ลี้ภัย ตามข้อมูลของรายงานข่าวในท้องถิ่น

“เจือง ซุย เญิ๊ต และผมต่างตกลงกันว่า เราจะไม่ปิดโทรศัพท์ ถ้าแบตเตอรี่โทรศัพท์เหลือน้อย เราจะส่งข้อความบอกกัน เพื่อแจ้งให้แต่ละฝ่ายทราบว่าแบตเตอรี่เหลือน้อยแล้ว ทำให้รู้ว่ายังไม่เกิดอะไรขึ้นกับเรา” บัคกล่าว “แต่ตอนนั้นผมไม่ได้รับการแจ้งใด ๆ หลังจากนั้นผมจึงไปที่โรงแรมซึ่งเป็นที่พักของเญิ๊ต เพื่อตรวจสอบ แต่ทางโรงแรมบอกว่าเญิ๊ตไม่ได้เดินทางกลับมา ในตอนนั้นประมาณ 18.30 น. ผมมั่นใจว่าเญิ๊ตถูกจับกุมแล้ว”

ในเวลาต่อมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรายงานว่า ทางการไทย ควบคุมตัวเ0ญิ๊ต ขณะอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าที่ปทุมธานี และส่งตัวให้กับตำรวจเวียดนามในค่ำวันเดียวกัน ตามข้อมูลของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ เจ้าหน้าที่เวียดนาม ได้ส่งตัวเญิ๊ตกลับไปเวียดนาม และไต่สวนคดีเขาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ในข้อหา “การใช้อำนาจและ/หรือหน้าที่อย่างมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 356(3) เญิ๊ตได้รับโทษจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งทางคณะทำงานเห็นว่าเป็นการลงโทษโดยพลการ 

บัคเชื่อว่า ทางการเวียดนามมีเป้าหมายที่จะลักพาตัวหรือจับกุมตัวเขาเช่นกัน เขากลัวว่าจะตกเป็นเหยื่อรายล่าสุดในเหตุการณ์รุนแรงหลายครั้งที่มีเป้าหมายเป็นนักกิจกรรมชาวเวียดนามในประเทศไทย รวมทั้ง การลักพาตัว การทุบตี และการคุกคามในรูปแบบอื่น ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558

ฮง เกวียน บัค ได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยโดยมีการเร่งรัดกระบวนการเพียงไม่กี่วันหลังการลักพาตัวเญิ๊ตที่เป็นเพื่อนของเขา และเมื่อเป็นที่ชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่เวียดนามกำลังเล็งเป้าหมายมาที่เขา เพราะเขาทราบข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเญิ๊ต ปัจจุบันบัคอาศัยอยู่อย่างปลอดภัยในแคนาดา 

ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 ตำรวจไทยได้ไปรับตัวนิมลระหว่างอยู่ที่ห้างบิ๊กซีที่กรุงเทพฯ ตอนที่เขาไปซื้อของกับภรรยา นิมลบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า ตำรวจไทยนอกเครื่องแบบอย่างน้อยแปดคน เข้ามาล้อมตัวเขาระหว่างอยู่ในห้าง จากนั้นก็พาเขาออกไปด้านนอกซึ่งมีตำรวจนอกเครื่องแบบอีกหลายนายรออยู่ และนำตัวเขาไปที่รถตู้ ใส่กุญแจมือติดไว้กับภรรยา ตำรวจขับรถพาเขาวนในพื้นที่เป็นเวลาประมาณสองชั่วโมง ก่อนจะไปพบกับรถอีกคันหนึ่งที่ขับมาโดยเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งเข้ามาควบคุมตัวสามีภรรยาไว้ 

“ชาวกัมพูชาเหล่านั้นไม่ได้คุยกับผม แต่คุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย” ต่อ นิมลกล่าว “มีเจ้าหน้าที่นายหนึ่งแจ้งกับเจ้าหน้าที่อีกคนว่า ต้องมีการส่งตัวผมกลับไปกัมพูชาทันที ผมไม่สามารถใช้โทรศัพท์ได้ เพราะมีการยึดโทรศัพท์ไปจากผมตั้งแต่อยู่ที่บิ๊กซี แม้แต่บัตร [UNHCR] ก็ยึดไปจากผม”

จากนั้นเจ้าหน้าที่กัมพูชาก็ขับพาสามีภรรยาไปที่พรมแดนประเทศไทย-กัมพูชา และพาข้ามด่านที่ปอยเปตในภาคตะวันตกของกัมพูชา และมีการส่งตัวเขาให้กับทหารกัมพูชาประมาณ 20 นาย

“เจ้าหน้าที่ทหารชี้ให้ผมดูที่อาวุธปืน และบอกให้ผมอย่าวิ่งหนี ไม่เช่นนั้นจะถูกยิง” นิมลกล่าว “ตอนนั้นเป็นเวลากลางคืนแล้ว และพวกเขาจะฆ่าผมยังไงก็ได้ ไม่มีใครรู้หรอก” 

จากนั้นเจ้าหน้าที่กัมพูชาก็ส่งตัวนิมลและภรรยาไปกรุงพนมเปญ และได้บังคับให้เขากล่าวประณามสม รังสี หัวหน้า CNRP ที่อยู่ระหว่างลี้ภัย อย่างไรก็ดี เพียงสี่วันหลังจากนั้นเขาได้รับการประกันตัวออกมา เขาและภรรยาก็ได้หลบหนีไปประเทศไทยอีกครั้ง และต้องรออีกสองปีก่อนจะได้ลี้ภัยไปที่อื่น ทั้งสามีภรรยาได้อาศัยอยู่ในแคนาดาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 

การทำร้ายร่างกาย

การสอดแนมข้อมูล การข่มขู่ และการจับกุมเป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางกับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยจำนวนมากในชุมชนของผู้เห็นต่างจากรัฐในประเทศไทย แต่ในบางครั้ง พวกเขาก็ตกเป็นเหยื่อของการทำร้ายร่างกาย ฮิวแมนไรท์วอทช์มีข้อมูลว่า ในอย่างน้อยสี่กรณีนับแต่ปี 2557 ผู้เห็นต่างจากรัฐที่ลี้ภัยในประเทศไทยได้ถูกทำร้ายร่างกายโดยบุคคลไม่ทราบฝ่าย ซึ่งน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกองกำลังความมั่นคง ซึ่งเมื่อนับรวมถึงคนไทยที่ตกเป็นเป้าหมายการทำร้ายในประเทศอาเซียนอื่น ๆ ยอดรวมจะเพิ่มสูงขึ้นถึงอย่างน้อย 13 คน 

สวน จำเรียน นักกิจกรรมฝ่ายค้านชาวกัมพูชาที่ลี้ภัยอยู่ในกรุงเทพฯ คุ้นเคยอย่างยิ่งกับการขู่ที่จะใช้ความรุนแรง เขาเคยถูกทำร้ายมาครั้งหนึ่ง และสามารถหนีรอดจากการอุ้มหายมาได้อย่างหวุดหวิด 

ในวันที่ 22 ธันวาคม 2562 เวลาประมาณ 21.30 น. ระหว่างที่จำเรียนเดินเข้าไปในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งอยู่ห่างจากปากทางเข้าห้องพักของเขาเพียงไม่กี่ก้าว เพื่อซื้อยารักษาหวัด ตอนที่เขาเดินออกมาจากร้าน ชายสองคนได้มายืนที่ด้านหน้าเขา มีลักษณะเหมือนกับเป็นยามรักษาความปลอดภัย และมีเจตนาที่จะเผชิญหน้ากับเขา 

ด้วยความหวาดกลัว จำเรียนหลบกลับเข้าไปในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น อีก 15 นาทีต่อมา ท่ามกลางความตกตะลึงของเจ้าหน้าที่และลูกค้าในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น คนร้ายได้ใช้ปืนไฟฟ้าทำร้ายจำเรียน พยายามที่จะจับตัวและลากตัวเขาออกไปจากร้าน ทั้งยังทุบตีเขาที่ศีรษะ หลัง แขน และขา และได้ใช้ปืนไฟฟ้าจี้ซ้ำกันหลายครั้ง จนกระทั่งแบตเตอรี่หมด 

“ [ปืนช็อตไฟฟ้า] ไฟหมด เพราะพวกเขาจี้ผมหลายครั้งมาก ทั้งที่คอ หลัง และทุกส่วนของร่างกาย” จำเรียนกล่าว

Opposition Cambodian activist Chamroeun Suon displays injuries he sustained after two assailants attacked him in Bangkok, Thailand on December 22, 2019.
Opposition Cambodian activist Chamroeun Suon displays injuries he sustained after two assailants attacked him in Bangkok, Thailand on December 22, 2019.

จำเรียน สวน นักกิจกรรมฝ่ายค้านชาวกัมพูชา ชี้รอยบาดแผลที่เกิดขึ้นจากการทำร้ายร่างกายโดยคนร้ายสองคนระหว่างอยู่ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย วันที่ 22 ธันวาคม 2562 

© 2019 ภาพส่วนบุคคล

เมื่อพนักงานร้านเซเว่นอีเลฟเว่นตะโกนว่า ได้เรียกตำรวจมาแล้ว ชายที่ไม่ทราบชื่อก็ยุติความพยายามที่จะจับตัวจำเรียนกลับเข้าไปในรถตู้ ซึ่งจอดอยู่ในถนนเล็ก ๆ ฝั่งตรงข้าม และหลบหนีไปจากที่เกิดเหตุ จำเรียนลุกขึ้นยืน และมองเห็นรถตู้ขับออกไป

จำเรียนเป็นเพียงหนึ่งในผู้เห็นต่างทางการเมืองหลายคน ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาตราหน้าว่าเป็นผู้ทรยศ และกล่าวหาว่า “วางแผนโค่นล้มรัฐบาล” พวกเขาถูกจับกุมด้วยข้อหาที่คลุมเครือ หลังจากที่ศาลฎีกาซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลได้สั่ง ยุบพรรค CNRP ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ทำให้สมาชิกพรรคฝ่ายค้านจำนวนมากหลบหนีไปประเทศไทย

จำเรียนและคนอื่น ๆ ที่ลี้ภัยในประเทศไทยเชื่อว่า รัฐบาลฮุนเซนได้ส่งเจ้าหน้าที่มาค้นหาตัว และมาทำร้ายนักกิจกรรมที่แสวงหาที่ลี้ภัยที่นั่น จำเรียนได้บอกหลายเดือนก่อนที่จะถูกทำร้ายที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นว่า สถานการณ์ได้เริ่มสงบลง 

“เราคิดว่าเราอยู่ในจุดที่ปลอดภัยแล้ว เราก็เลยไม่ค่อยระวังเรื่องความปลอดภัยสักเท่าไร” จำเรียนกล่าว “เราคิดว่าเราปลอดภัยแล้ว แต่มันไม่ได้ปลอดภัยหรอก” 

นักกิจกรรมชาวลาวที่ลี้ภัยก็ถูกทำร้าย และบางรายได้ถูกวิสามัญฆาตกรรม ในวันที่ 17 พฤษภาคม2566 คนร้ายไม่ทราบฝ่าย ได้ยิงสังหาร บุนสวน กิตติยาโน นักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่มลาวเสรีที่อยู่ระหว่างลี้ภัยที่อำเภอสีเชียงใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ใกล้กับพรมแดนลาว จากการสอบสวนของตำรวจในพื้นที่ชี้ว่า เขาถูกยิงหลายครั้งระหว่างที่ขับรถมอเตอร์ไซค์มาเพียงลำพังบนถนนในชนบท เจ้าหน้าที่ข่าวกรองทางทหารของไทย บอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า มันเป็น “การสังหารแบบมืออาชีพมาก” และหัวเราะเมื่อตำรวจในพื้นที่สันนิษฐานว่า บุนสวนถูกญาติฆ่าตายเพราะไม่พอใจกับการทำงานกิจกรรมของเขา ตามข้อมูลของรายงานจากสื่อบุนสวนได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR และอยู่ระหว่างการขอลี้ภัยไปอยู่ออสเตรเลีย

เมื่อข้ามพรมแดนไป ผู้เห็นต่างจากรัฐชาวไทยที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ที่ลี้ภัยในลาวก็เริ่มหายตัวไปเช่นกัน  นับแต่ปี 2559 มีนักกิจกรรมชาวไทยอย่างน้อยเก้าคน ซึ่งหายตัวไป หรือถูกพบว่าเสียชีวิตในสภาพที่ลึกลับ

การหายตัวไปของพลเมืองไทย

Wเพื่อถ่วงให้ศพจมอยู่ใต้น้ำ เจ้าหน้าที่นิติเวชได้ตรวจสอบดีเอ็นเอ และยืนยัน ว่าเป็นศพของชัชชาญและไกรเดช แต่ไม่มีการพบศพของสุรชัย แต่เนื่องจากทั้งสามคนอาศัยอยู่ในที่เดียวกันตอนที่หายตัวไป จึงคาดว่าเขาเสียชีวิตเช่นกัน สุรชัยเป็นหนึ่งใน ผู้เห็นต่างจากรัฐที่มีชื่อเสียง มากสุดคนหนึ่งของไทย และรัฐบาลไทยได้ตั้งค่าหัวของเขาไว้ที่ 10 ล้านบาท ทั้งรัฐบาลไทยและลาวไม่ได้สอบสวนกรณีที่เกิดขึ้นนี้อย่างจริงจัง 

ในเดือนพฤษภาคม2562 สยาม ธีรวุฒิ นักจัดรายการวิทยุใต้ดินเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร ได้หายตัวไปพร้อมกับผู้ต่อต้านสถาบันกษัตริย์อีกสองคน รวมทั้งชูชีพ ชีวะสุทธิ์และกฤษณะ ทัพไทย เพื่อนนักกิจกรรมบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า พวกเขาได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตม.เวียดนามว่า มีการควบคุมตัวชายกลุ่มนี้ไว้ที่สนามบินที่เวียดนาม เนื่องจากใช้หนังสือเดินทางปลอมเป็นคนอินโดนีเซีย ชายเหล่านี้ส่งข้อความถึงเพื่อนและญาติในประเทศไทย ระหว่างอยู่ที่เมืองวินห์ ตอนกลางของเวียดนาม แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ บอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ ว่า ทั้งสองคน ถูกเนรเทศกลับไปประเทศไทย แม้ว่ารัฐบาลไทยจะปฏิเสธ เรื่องนี้

กัญญา แม่ของสยาม พร้อมกับอิ๊งซึ่งเป็นน้องสาวบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ในเดือนสิงหาคม 2566 ว่า ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกชาย การหายตัวไปของสยาม และที่อยู่ของชายอีกสองคนยังคงเป็นปริศนาจนถึงปัจจุบัน 

“พวกเราไม่ได้รับคำตอบเลยว่าเขาอยู่ที่ไหน หรือเกิดอะไรขึ้น” กัญญากล่าว “ไม่มีความยุติธรรมให้กับเขา หรือคนอื่นที่เป็นเหมือนเขา” ความเศร้าโศกของครอบครัว และการที่ไม่สามารถทำใจยอมรับความจริงได้ เป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นภายหลังการบังคับให้สูญหาย

นักกิจกรรมทางการเมืองชาวไทย และผู้เห็นต่างจากรัฐคนอื่นอีกอย่างน้อยสองคน รวมทั้งอิทธิพล สุขแป้น และวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ ได้ถูกอุ้มหายในลาวเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 และกรกฎาคม 2560 ตามลำดับ และยังไม่มีข้อมูลว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน พยานสองคนบอกว่า ชายติดอาวุธ 10 คนได้เข้ามาลักพาตัววุฒิพงศ์ด้านนอกบ้านของเขาที่กรุงเวียงจันทน์ พูดไทยได้และสวมหมวกไอ้โม่งเพื่อปกปิดใบหน้า 

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ แกนนำนักกิจกรรมทางการเมืองชาวไทยและผู้วิจารณ์รัฐบาลประยุทธ์ ถูกอุ้มหายโดยชายไม่ทราบฝ่ายในกัมพูชาเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 และยังหาตัวไม่พบ 

สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทย และพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในกรุงเทพฯ ได้สรุปผลการสอบสวนของตนเองไม่นานหลังการหายตัวไปของวันเฉลิม พวกเขาพบว่าชายไม่ทราบฝ่ายได้ไปที่อพาร์ทเมนท์ของเขาที่กรุงพนมเปญด้วยรถยนต์อเนกประสงค์สีดำ และได้กักตัวเขาไว้ที่ด้านหน้าของอาคาร ผลักเขาเข้าไปในรถ และขับออกไป สิตานันท์บอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า ในตอนนั้นเธอกำลังคุยโทรศัพท์กับน้องชาย และเสียงสุดท้ายที่ได้ยินจากเขาก็คือ “ผมหายใจไม่ออก” ตามมาด้วยเสียงทุบตีดังเข้ามาทางโทรศัพท์ 

การชูภาพของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทยขณะที่ประชาชนมารวมตัวกันเพื่อสนับสนุนเขา และมีการประท้วงเรียกร้องให้มีการสอบสวนกรณีนี้ที่ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย วันที่ 12 มิถุนายน 2563 

© 2020 Athit Perawongmetha/Reuters

ภาพแสดงใบหน้าของวันเฉลิมที่เรียกร้องให้เขากลับมาอย่างปลอดภัย เป็นภาพที่เราเห็นอย่างกว้างขวางระหว่างการประท้วงครั้งใหญ่ในประเทศไทยเมื่อปี 2563 โดยมีประชาชนหลายพันคนหลั่งไหลเข้ามาบนถนนในกรุงเทพฯ และเมืองอื่น ๆ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์  

การเพิกเฉยครั้งแล้วครั้งเล่าต่อสถานะผู้ลี้ภัย

รัฐบาลไทยได้แสดงความเพิกเฉยครั้งแล้วครั้งเล่า ต่อสถานะผู้ลี้ภัยของผู้เห็นต่างจากรัฐที่ลี้ภัยในประเทศ แม้ว่าจะเป็นบุคคลที่มีบัตรผู้ลี้ภัย UNHCR แต่ทางการไทยก็ไม่ลังเลที่จะจับกุม และในบางกรณียังมีการเนรเทศอย่างรวบรัดทำให้ต้องกลับไปเผชิญกับการประหัตประหารในประเทศบ้านเกิด ซึ่งเป็นการละเมิดพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศของไทย 

ในเดือนธันวาคม 2564 ตำรวจไทยได้ควบคุมตัวพระบรเบต พระที่ได้รับความเคารพอย่างสูงในกัมพูชา ได้ทำการสึกพระ และวางแผนจะบังคับส่งกลับเขาเขาเป็นผู้วิจารณ์คนสำคัญต่อรัฐบาลกัมพูชา และเป็นนักสิ่งแวดล้อมซึ่งได้เรียกร้องให้มีการปกป้องคุ้มครองป่าไม้ในประเทศมากขึ้น เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีกับเขาในข้อหายุยงปลุกปั่นและขบถ บีบให้เขาต้องหลบหนีไปประเทศไทย ในช่วงเวลาประมาณ 10 เดือน ท่านได้หลบไปจำวัดอยู่ในวัดที่สมุทรปราการ สุดท้ายแล้ว เจ้าหน้าที่ไทยก็ตามตัวจนเจอ ได้ไปเคาะประตูที่วัดในช่วงค่ำวันศุกร์ และบังคับให้ศึก ซึ่งเป็นขั้นตอนปฏิบัติก่อนการนำตัวพระภิกษุไปคุมขัง จากนั้นก็นำตัวเขาไปที่สถานกักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลู

Thai police arrest Bor Bet, a Buddhist monk and Cambodian activist living in exile, at a temple in Samut Prakan province, Thailand in December 2021.
Thai authorities pressure Bor Bet to disrobe and put on civilian clothes as he is detained at a temple in Samut Prakan province, Thailand, December 2021.

ภาพแรก: ตำรวจไทยจับกุมพระบรเบต พระและนักกิจกรรมชาวกัมพูชาที่อยู่ระหว่างลี้ภัยในวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ประเทศไทย ในเดือนธันวาคม 2564 ภาพที่สอง: เจ้าหน้าที่ไทยกดดันให้พระบรเบตลาสิกขา และให้ใส่เสื้อผ้าของพลเรือนระหว่างถูกควบคุมตัวที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ประเทศไทย ในเดือนธันวาคม 2564

© 2021 ภาพส่วนบุคคล

“ผมคิดว่าตอนที่ถูกจับ น่าจะมีสายลับมาเกี่ยวข้อง” บรเบตบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ เขาบอกว่ามีเพื่อนคนหนึ่งที่บอกให้เขามาเยี่ยมทันที และต้องการรู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน “ผมบอกว่า ‘โอเค ผมจะไปตอนค่ำวันนี้’” แต่คนที่นัดไม่มา คนที่มากลับเป็นตำรวจไทยกว่า 10 นายพร้อมอาวุธครบมือ และบุกมาที่วัด 

“ผมได้ยินตำรวจพูดในวิทยุบอกกับคนที่พูดภาษาเขมรว่า ผมถูกจับกุมแล้ว” บรเบตกล่าว “จากนั้นในวิทยุก็มีเสียงคนเขมร ซึ่งเป็นคนสั่งการ และบอกว่า ‘เนรเทศเขาไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้’”  

แม้ว่าบรเบตจะแสดงบัตรผู้ลี้ภัยของ UNHCR แต่ตำรวจไทยก็ยังนำตัวเขาไปที่โรงพัก จากนั้นนำตัวไปที่สถานกักตัวคนต่างด้าวสมุทรปราการ และสุดท้ายก็นำตัวเขาไปที่สถานกักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลู กรุงเทพฯ เพื่อกักตัวและรอการเนรเทศ ตำรวจระดับสูงชาวไทยนายหนึ่งบอกกับบรเบตอย่างเปิดเผยว่า เป็นคำสั่งที่มาจากกระทรวงมหาดไทยของไทย โดยอ้างว่าเป็น “ความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทยของไทยกับรัฐบาลฮุนเซน” 

นักกิจกรรมจากพรรค CNRP ในกรุงเทพฯ ได้รับภาพถ่ายขณะที่ตำรวจบังคับให้พระบรเบตถอดจีวร และได้มีการนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางลบอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดียของไทย เพราะเป็นการจับกุมพระภิกษุ ผู้ช่วยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น เดินทางไปที่ตม.สมุทรปราการเพื่อสอบถาม สถานเอกอัครราชทูตต่างชาติได้ส่งข้อความแสดงความกังวลไปยังกระทรวงการต่างประเทศของไทย และรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์เห็นชอบให้บรเบตสามารถลี้ภัยไปได้อย่างรวดเร็ว หากเขาได้รับการปล่อยตัว สุดท้ายแล้ว แรงตอบโต้จากชุมชนคนไทย และแรงกดดันทางการเมือง บีบให้ทางการไทยต้องล้มเลิกแผนที่จะบังคับส่งกลับบรเบตไปยังกัมพูชา ปัจจุบันเขาพักอาศัยอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ 

ตำรวจไทยเพิกเฉยต่อสถานะผู้ลี้ภัยที่ได้รับการรับรองจาก UNHCR ของนูร ซาญัตอินฟลูเอ็นเซอร์โซเชียลมีเดียที่เป็นคนข้ามเพศ พิธีกรรายการทีวี และนักกิจกรรมผู้มีความหลากหลายทางเพศชาวมาเลเซีย ซึ่งหลบหนีมาประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 หนึ่งเดือนก่อนจะหลบหนีออกมา ทางการมาเลเซีย จับกุมเธอ ในข้อหา “ดูหมิ่นศาสนาอิสลาม” เนื่องจากเธอได้สวมชุดของผู้หญิงระหว่างประกอบพิธีทางศาสนา เป็นข้อหาที่มีโทษจำคุกห้าปี ซาญัตบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า ชายสามคนได้ทุบตีและละเมิดทางเพศต่อเธอ ระหว่างที่เธอถูกคุมขังก่อนจะได้ประกันตัวออกมา  

ตำรวจไทยบุกข้าไปในที่พักของนูร ซาญัต นักกิจกรรมชาวมาเลเซีย ในกรุงเทพฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 

© 2021 ภาพส่วนบุคคล

นูร ซาญัต หลบหนีออกมาก่อนการพิจารณา เพราะกลัวการปฏิบัติมิชอบมากกว่านั้น หากเธอถูกศาลตัดสินจำคุก หลังเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยอย่างเป็นความลับ เธอเดินทางมาที่กรุงเทพฯ และขอสถานะผู้ลี้ภัย โดยทาง UNHCR อนุญาตอย่างรวดเร็ว

รัฐบาลมาเลเซียเริ่มรังควานซาญัตตั้งแต่ปี 2563 โดยมีการ ขู่จะสั่งปิดบัญชีโซเชียลมีเดียของเธอ หลังจากเธอได้แชร์วิดีโอและภาพถ่ายขณะที่สวมชุดทำละหมาดของผู้หญิง 

ซาญัตบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า ช่วงหลายปีก่อนที่เธอจะถูกจับกุม เธอไม่เคยปกปิดอัตลักษณ์ว่าเป็นหญิงข้ามเพศ และแสดงออกว่านับถือศาสนาอิสลามอย่างเปิดเผย เธอชนะในการแข่งขันรายการประกวดความสามารถ Miss International Queen ในปี 2556 และ บอกว่าเธอเกิดมาเป็นบุคคลอินเตอร์เซ็ก และถูกเลี้ยงดูแบบเด็กผู้หญิงและยังเติบโตมาเป็นชาวมุสลิม

ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ตำรวจไทยได้บุกตรวจห้องพักของเธอระหว่างที่อยู่ในกรุงเทพฯ และ จับกุมเธอในข้อหาเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย โดยทางตม.ได้รับแจ้งข้อมูลจากตม.ในมาเลเซีย ซึ่งบอกกับรัฐบาลไทยว่า พวกเขาได้ยกเลิกหนังสือเดินทางของเธอแล้ว และขอให้ส่งตัวเธอเป็นผู้ร้ายข้ามแดน จากการแทรกแซงช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว และข่าวที่เผยแพร่อย่างกว้างขวาง ในกรณีของเธอด้วยความช่วยเหลือจากนักการทูตที่กรุงเทพฯ หน่วยงานสหประชาชาติ ฮิวแมนไรท์วอทช์ และหน่วยงานสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ รวมทั้งกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศและระดับภูมิภาค ทำให้รัฐบาลไทยยุติการกระทำ และสุดท้ายก็ไม่ทำตามข้อตกลงเดิมที่จะเนรเทศเธอกลับไปมาเลเซีย สุดท้ายแล้ว นูร ซาญัตได้ลี้ภัยอยู่ในออสเตรเลีย

“ตอนที่ตำรวจไทยได้รับแจ้งข้อมูลจากรัฐบาลมาเลเซีย พวกเขาจึงได้ทำการค้นหา จนค้นพบตัวดิฉัน” ซาญัตกล่าว

การละเมิดกฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศ

รัฐบาลทุกประเทศมีพันธกรณีที่จะต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพลเมืองต่างชาติที่อาศัยอยู่ในพรมแดนของตน ซึ่งหมายถึงการไม่ร่วมมือกับความพยายามของรัฐบาลต่างชาติ ที่จะดำเนินการอย่างผิดกฎหมายเพื่อให้ส่งตัวพลเมืองของตน ในรูปแบบของการปราบปรามข้ามชาติ ซึ่งจะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ตามที่กำหนดไว้ใน อนุสัญญาผู้ลี้ภัยหรืออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน

ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน แม้จะยังไม่ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาผู้ลี้ภัย แต่ก็มีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามหลักการไม่ส่งกลับ ซึ่งเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ที่ห้ามไม่ให้ส่งบุคคลกลับไปยังที่ใด ๆ กรณีที่อาจต้องเผชิญกับภัยคุกคามต่อชีวิต หรือมีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่าจะตกเป็นเหยื่อของการประหัตประหาร การทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย 

ความร่วมมือของรัฐบาลไทยในการปราบปรามข้ามชาติของรัฐบาลต่างชาติ ยังเป็นการละเมิดต่อกฎหมายของไทยเอง ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 รัฐสภาไทย ออกเสียงรับรองพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 กฎหมายนี้กำหนดว่า ห้ามไม่ให้มีการขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลไปยังที่ใด ๆ กรณีที่อาจเสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อของการประหัตประหาร รวมทั้งการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย และการบังคับให้สูญหาย แม้ว่า กฎหมาย นี้จะมีข้อบกพร่อง แต่ก็เป็นการอธิบายว่าการส่งกลับที่ทางการไทยปฏิบัติในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

ความตกลง “ตลาดแลกเปลี่ยน”

ความตกลง “ตลาดแลกเปลี่ยน” ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างรัฐบาลที่จะบังคับส่งกลับผู้เห็นต่างจากรัฐที่ลี้ภัย เป็นเรื่องที่ยากจะตรวจสอบในกรณีของประเทศไทย อย่างไรก็ดี หลังจากกองทัพได้ยึดอำนาจของประเทศด้วยการทำรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ได้เกิด การปราบปรามเพิ่มขึ้น ในประเทศไทยในหลายรูปแบบ ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้เก็บข้อมูลการควบคุมตัวโดยพลการ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับแกนนำผู้ประท้วง การปราบปรามอย่างรุนแรง ต่อผู้ประท้วงอย่างสงบ การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อนักกิจกรรม และ การปราบปรามการแสดงออกอย่างเสรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามในรูปแบบต่าง ๆ การบรรลุความตกลง “ตลาดแลกเปลี่ยน” โดยร่วมมือกับรัฐบาลที่ใช้อำนาจอย่างมิชอบ เพื่อสนับสนุนการปราบปรามข้ามชาติย่อมสอดคล้องกับหลักฐานที่เรารวบรวมมาได้ 

“เวลาพูดถึงการส่งกลับ หรือการแลกเปลี่ยนตัวนักกิจกรรมทางการเมือง เป็นเรื่องที่ทำได้รวดเร็วมาก” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าว “ในบางกรณี [ทางการ] แค่บอกว่า ‘เราไม่รู้เรื่องนี้หรอก’ แต่ในบางกรณี พวกเขาบอกว่าถ้าไม่ถามก็ไม่บอก จากนั้นก็มีการส่งตัวบุคคลอย่างรวดเร็ว จนทำให้การแทรกแซงหรือหยุดยั้งจากหน่วยงานอื่นไม่สามารถทำได้”

พรเพ็ญแสดงความกังวลว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายจะมีผลกระทบน้อย เนื่องจากทางการไทยได้แสดงความเห็นในหลายครั้งว่า พวกเขาไม่รู้ว่าผู้ต้องกักคนไหนเป็นผู้ลี้ภัย ก่อนจะมีการเนรเทศพวกเขา 

รัฐ รอท โมนี ผู้สื่อข่าวชาวกัมพูชา เดินออกมาจากรถตู้ตำรวจในกัมพูชา หลังถูกทางการไทยบังคับส่งกลับไปเมื่อเดือนธันวาคม 2561 

© 2018 ภาพส่วนบุคคล

รัฐ รอท โมนี ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวกัมพูชา อดีตนักสหภาพแรงงานและผู้สื่อข่าวถูกตำรวจไทยจับกุม ด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ในกรุงเทพฯ และถูกเนรเทศกลับไปกัมพูชาในเดือนธันวาคม2561 เขาบอกว่า เจ้าหน้าที่กัมพูชาบอกเขาเกี่ยวกับความตกลง “ตลาดแลกเปลี่ยน” ระหว่างที่เขาถูกกักตัวที่กรุงพนมเปญ โมนีได้หลบหนีมาประเทศไทย หลังจากช่วยงานการทำสารคดีของ Russia Today เรื่อง “แม่เป็นคนขายหนู” ซึ่งเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ทางเพศต่อเด็กในกัมพูชา สารคดีนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูง ในรัฐบาลกัมพูชาโกรธมาก พวกเขาอ้างว่าเป็นข้อมูลเท็จ และมีการแจ้งข้อหาต่อโมนี ซึ่งทำงานเป็นผู้ช่วยและล่ามแปลระหว่างการถ่ายทำ

แม้เขาจะร้องขอต่อตำรวจไทยว่า เขาอาจ “ถูกฆ่าหรือถูกขังคุก” หากถูกส่งตัวกลับไป แต่ทางการไทยก็ยังบังคับส่งตัวเขากลับไปกัมพูชาไม่กี่วันหลังถูกจับกุม เขาเคยถูก พิจารณาคดีลับหลัง  มาแล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่ส่งตัวเขาเข้าเรือนจำทันทีในเดือนธันวาคม 2561 เพื่อใช้โทษจำคุกเป็นเวลาสองปี 

ระหว่างอยู่ในเรือนจำ โมนีได้ฟังเรื่องราวที่บอกเล่าแบบลับ ๆ เกี่ยวกับความตกลง “ตลาดแลกเปลี่ยน”

"ตอนที่ผมถูกจับกุมในกัมพูชา มีบางคนที่พูดถึงวันเฉลิม” โมนีกล่าว โดยอ้างอิงถึงนักกิจกรรมผู้เห็นต่างชาวไทยที่มีชื่อเสียง ซึ่งถูกลักพาตัว และอาจถูกบังคับให้สูญหายเมื่อปี 2563 “บางคนบอกว่า ‘เขาจับตัวคุณเพื่อแลกเปลี่ยนกับคนเสื้อแดง’ ส่วนตำรวจบอกว่า ‘โมนี คุณเป็นแค่ล่าม มันไม่ใช่ปัญหาใหญ่เลย แต่ปัญหาก็คือพวกนักกิจกรรมคนเสื้อแดง [ที่เราควบคุมตัวอยู่] พวกเขา [ทางการไทย] ต้องการตัวคนเหล่านี้’"

“คนเสื้อแดง" หมายถึงขบวนการทางการเมืองของไทยที่เชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลและถูกโค่นล้มระหว่างการทำรัฐประหาร พฤษภาคม 2557 ภายหลังการทำรัฐประหาร กองทัพหาทางจับกุมแกนนำคนเสื้อแดง แต่หลายคนหลบหนีไปประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งกัมพูชาและลาว

ข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมตัวและการบังคับส่งกลับโมนีไปกัมพูชาชี้ว่า เขาน่าจะถูกแลกเปลี่ยนตัวกับแกนนำคนเสื้อแดง เขาบอกว่า ตอนที่ถูกเนรเทศจากประเทศไทยกลับไปกัมพูชา ทางการไทยพูดอย่างเปิดเผยว่า การแลกเปลี่ยนครั้งนี้ต้องใช้ “ต้นทุนการเงินที่สูง” 

“ตอนที่ผมอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย [ของกัมพูชา] ผมถูกขังเอาไว้ในห้อง” โมนีกล่าว “ผมถูกใส่กุญแจมือ ต้องนอนบนพื้น และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ตำรวจเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการจับตัวคนเสื้อแดงคนหนึ่ง มีการพูดคุยว่าผมและ [นักกิจกรรม] ชาวไทยคนนี้จะต้องอยู่ในห้องเดียวกัน แต่เจ้าหน้าที่อีกคนบอกว่า ‘ไม่ได้หรอก คนเสื้อแดงกำลังต่อสู้กับรัฐบาลไทย แต่คุณเป็นแค่ผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศ’” โมนีบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า เขาไม่รู้จักนักกิจกรรมที่ถูกแลกเปลี่ยนตัวกับเขา 

__

กรณีต่าง ๆ ในรายงานนี้ เป็นเพียงบางส่วนของความร่วมมือระหว่างทางการไทยกับเจ้าหน้าที่จากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อทำการสอดแนมข้อมูลและการคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมืองที่แสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศไทย ในหลายครั้ง ความร่วมมือเช่นนี้ได้นำไปสู่การทำร้ายร่างกาย การจับกุม การบังคับส่งกลับ และการบังคับให้สูญหาย

รัฐบาลใหม่ของไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นผลมาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 มีพันธกรณีอย่างเร่งด่วนที่จะต้องยุติ ความตกลง “ตลาดแลกเปลี่ยน” และความตกลงอย่างอื่น ๆ และจะต้องดำเนินการเพื่อต่อต้านและเปิดโปงการปราบปรามข้ามชาติทุกรูปแบบของรัฐบาลต่างชาติ ที่กระทำต่อผู้เห็นต่างจากรัฐที่ลี้ภัยในประเทศไทย

ข้อเสนอแนะ

สำหรับรัฐบาลประเทศไทย

  • หยุดสนับสนุนหรือร่วมมือในการปราบปรามข้ามชาติของรัฐบาลอื่น
  • สอบสวนอย่างรอบด้านและไม่ลำเอียงตามข้อกล่าวหาว่า มีการคุกคาม การข่มขู่ การกดดัน การสอดแนมข้อมูลและการบังคับส่งกลับจากประเทศไทยโดยรัฐบาลต่างชาติ หรือตัวแทนที่กระทำต่อผู้เข้าเมือง ผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศไทย และบทบาทของเจ้าหน้าที่ไทยในปฏิบัติการเหล่านี้ ให้เปิดเผยผลการสอบสวนเกี่ยวกับการปราบปรามข้ามชาติโดยเร็ว และให้ดำเนินการเพื่อตอบโต้กับรัฐบาลที่มีส่วนรับผิดชอบ ให้ลงโทษทางวินัยหรือฟ้องคดีตามความเหมาะสมต่อบุคคลที่มีส่วนรับผิดชอบในการร่วมมือกับการปราบปรามข้ามชาติ ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือยศใด
  • สอบสวนอย่างรอบด้านและโปร่งใสตามข้อกล่าวหาว่ามีการคุกคาม การข่มขู่ การกดดัน การสอดแนมข้อมูล และการบังคับส่งกลับโดยทางการไทย ต่อพลเมืองไทยที่ลี้ภัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือในที่อื่น ๆ ให้เปิดเผยผลการสอบสวนโดยเร็ว และให้ลงโทษทางวินัยหรือฟ้องคดีตามความเหมาะสมต่อบุคคลที่มีส่วนรับผิดชอบ ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือยศใด 
  • เปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดของความตกลงทวิภาคีกับรัฐบาลอื่น ที่กำกับดูแลการเนรเทศหรือการบังคับส่งตัวพลเมืองต่างชาติ และให้เปิดเผยเนื้อหาทั้งหมดของความตกลงต่อสาธารณะ รัฐบาลไทยควรยกเลิกหรือแก้ไขความตกลงเหล่านี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการบังคับส่งกลับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัย และการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างอื่น
  • ยกเลิกความตกลงทวิภาคีกับกัมพูชาในส่วนของความร่วมมือเพื่อจับกุม “ผู้หลบหนีกระบวนการทางกฎหมาย” ซึ่งได้ถูกนำไปใช้อย่างมิชอบอย่างต่อเนื่องโดยรัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลไทยชุดที่ผ่านมา เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการเนรเทศผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัย
  • แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลที่เป็นอิสระที่มีตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคม ที่มีอำนาจในการเรียกตัวบุคคลเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ การปราบปรามข้ามชาติโดยรัฐบาลต่างชาติในประเทศไทย และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อยุติการปฏิบัติเหล่านี้ และให้ความคุ้มครองที่ดีขึ้นต่อผู้เห็นต่างจากรัฐที่ลี้ภัยในประเทศไทย
  • ใช้มาตรการที่จำเป็น และบังคับใช้กฎหมายในประเทศ เพื่อประกันว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง และตัวแทนของรัฐจากกัมพูชา จีน ลาว เมียนมา เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ จะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการสอดแนมข้อมูล การคุกคาม การทำร้ายร่างกาย การลักพาตัว หรือกระทำการอย่างมิชอบด้วยกฎหมายต่อผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ผู้ลี้ภัย และพลเมืองอื่น ๆ จากประเทศเหล่านี้
  • ให้ปล่อยตัวชายชาวอุยกูร์ 43 คนโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยพวกเขาถูกกักตัวในสถานกักตัวคนเข้าเมืองอย่างไม่มีเวลากำหนด และให้ลดโทษต่อชายชาวอุยกูร์ห้าคนที่ศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานพยายามหลบหนีจากสถานกักตัว และอนุญาตให้ชายทั้ง 48 คนเดินทางออกจากประเทศไทย เพื่อไปอยู่ร่วมกับครอบครัวในประเทศที่สาม
  • ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสารเลือกรับ พ.ศ. 2510 โดยไม่มีการประกาศข้อสงวน และดำเนินการให้เนื้อหาของกฎหมายคนเข้าเมือง ข้อบังคับ และนโยบายของไทย สอดคล้องอย่างเต็มที่กับสนธิสัญญาระหว่างประเทศเหล่านี้
  • ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย โดยไม่มีการประกาศข้อสงวน 
  • ประกันว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และมีประธานเป็นรัฐมนตรียุติธรรม จะทำหน้าที่สอบสวนในเชิงรุกในทุกกรณีที่สงสัยว่าเป็นการบังคับให้สูญหาย และเกี่ยวข้องกับการปราบปรามข้ามชาติ

สำหรับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

  • ให้สอบสวนกรณีการปราบปรามข้ามชาติในประเทศไทย รวมทั้งกรณีที่อยู่ในรายงานนี้ ให้จัดการรับฟังความเห็นสาธารณะในประเด็นเกี่ยวกับการปราบปรามข้ามชาติ และ ความตกลง “ตลาดแลกเปลี่ยน” ที่ทำกับรัฐบาลอื่น ๆ และให้เผยแพร่ผลการสอบสวนพร้อมกับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย

สำหรับรัฐบาลกัมพูชา            

  • ให้เปิดเผยเนื้อหาทั้งหมดของของความตกลงเมื่อเดือนมีนาคม 2561 กับรัฐบาลไทย เกี่ยวกับความร่วมมือในการติดตามตัว จับกุม และส่งกลับ “ผู้หลบหนีกระบวนการทางกฎหมาย”
  • ให้ดำเนินการทันทีตาม ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับให้สูญหาย ที่ระบุว่าการบังคับให้สูญหาย “ต้องได้รับการสอบสวนอย่างรอบด้าน อย่างเป็นผล และอย่างไม่ลำเอียง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของยุทธศาสตร์การค้นหาและการสอบสวนอย่างรอบด้าน และในเชิงโครงสร้าง แม้จะไม่มีการร้องเรียนอย่างเป็นทางการ”
  • ให้สอบสวนอย่างเหมาะสมและอย่างไม่ลำเอียงต่อกรณีของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พลเมืองของไทย โดยเหตุเกิดที่กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2563 และกรณีอื่น ๆ ที่กล่าวถึงในรายงานนี้ และให้เปิดเผยผลการสอบสวนต่อสาธารณะ
  • ยุติการร้องขอให้รัฐบาลประเทศไทยทำการสอดแนมข้อมูล การจับกุม และการบังคับส่งกลับนักกิจกรรมทางการเมือง และผู้ลี้ภัยที่ผ่านการรับรองของ UNHCR กลับไปกัมพูชา 

สำหรับรัฐบาลลาว 

  • ยุติการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ลาวที่เกี่ยวข้องกับการลักพาตัว หรือการบังคับส่งกลับพลเมืองลาวกลับไปลาว ไต่สวนเพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ผู้สั่งการ และดำเนินการให้เกิดการลักพาตัวและการส่งตัวบุคคลเหล่านั้น
  • ให้สอบสวนอย่างเต็มที่และอย่างไม่ลำเอียง โดยร่วมมือกับรัฐบาลไทย กรณีการหายตัวไปของอ๊อด ไชยะวง นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงานข้ามชาติ และสมาชิกกลุ่มลาวเสรี โดยเหตุเกิดที่กรุงเทพฯ ในเดือนสิงหาคม 2562 และให้เปิดเผยผลการสอบสวนต่อสาธารณะ
  • ให้สอบสวนอย่างเต็มที่และอย่างไม่ลำเอียงกรณีการหายตัวไปของเพชรภูธร พิละจัน สมาชิกกลุ่มลาวเสรี ในกรุงเวียงจันทน์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 และให้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์และที่อยู่ของเขา
  • สอบสวนอย่างรอบด้านและไม่ลำเอียงกรณีการหายตัวไปของแกนนำนักกิจกรรมชาวไทย สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และการสังหารชัชชาญ บุปผาวัลย์ และไกรเดช ลือเลิศที่เป็นผู้ช่วยของเขาในเดือนธันวาคม 2561 และการหายตัวไปของแกนนำต่อต้านสถาบันกษัตริย์ อิทธิพล สุขแป้น และวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ ในเดือนมิถุนายน  2559 และกรกฎาคม 2560 ตามลำดับ และให้เปิดเผยผลการสอบสวนต่อสาธารณะ
  • ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย ซึ่งรัฐบาลลาวได้ลงนามเมื่อปี 2555 แต่ยังไม่ให้สัตยาบันรับรอง และแก้ไขกฎหมายและระเบียบในประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญา with that convention.

สำหรับรัฐบาลเวียดนาม

  • ให้สอบสวนอย่างไม่ลำเอียงและรายงานผลสอบสวนต่อสารณะ กรณีการจับกุมนักกิจกรรมทางการเมืองชาวไทยระหว่างอยู่ในเวียดนาม รวมทั้งสยาม ธีรวุฒิ, ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ และกฤษณะ ทัพไทย และให้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยเพื่อสอบสวนกรณีการบังคับส่งกลับพวกเขาไปประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562
  • ให้รายงานต่อสาธารณะเกี่ยวกับบทบาทของทางการเวียดนาม ในการลักพาตัวเดื่อง วาน ไถ ที่จังหวัดปทุมธานี ประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน 2566 และการลักพาตัวเจือง ซุย เญิ๊ต ที่ปทุมธานีเมื่อเดือนมกราคม 2562 และให้ไต่สวนเพื่อเอาผิดกับผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการลักพาตัวเหล่านี้
  • ยุติการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เวียดนามที่เกี่ยวข้องกับการลักพาตัว หรือการบังคับส่งกลับพลเมืองเวียดนามกลับไปเวียดนาม ไต่สวนเพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ผู้สั่งการ และดำเนินการให้เกิดการลักพาตัวและการส่งตัวบุคคลเหล่านั้น
  • ยุติการเนรเทศผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในเวียดนามทุกกรณี และอนุญาตให้ UNHCR สามารถเข้าถึงผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในเวียดนาม
  • ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย และแก้ไขกฎหมายและระเบียบในประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญา

สำหรับรัฐบาลจีน

  • Eยุติการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จีน ในการลักพาตัวหรือบังคับส่งกลับพลเมืองชาวจีนหรือฮ่องกงกลับไปประเทศจีน ไต่สวนเพื่อเอาผิดกับผู้ที่สั่งการ และดำเนินการให้มีการลักพาตัว และการส่งกลับ
  • เปิดเผยข้อมูลต่อสารณะในส่วนของที่อยู่ สภาพการกักตัว และสถานะอื่น ๆ ในปัจจุบันของชายชาวอุยกูร์ 109 คนที่ถูกบังคับส่งกลับไปประเทศจีนโดยประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2558 และอนุญาตให้ผู้ชายเหล่านี้เดินทางออกจากจีนเพื่อไปอยู่ร่วมกับครอบครัวในต่างแดน
  • อนุญาตให้ เจียงยี่เฟยตงกวงปิง และกุยมินไฮ เดินทางออกจากจีน เพื่อไปอยู่ร่วมกับครอบครัวในต่างแดน  

สำหรับองค์การสหประชาชาติ 

  • ยอมรับว่าการปราบปรามข้ามชาติเป็นภัยคุกคามเป็นการเฉพาะต่อสิทธิมนุษยชน
  • ทบทวนและแก้ไขความคุ้มครองที่ให้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมคนอื่น ที่ร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ เพื่อให้สามารถรับมือกับความเสี่ยงที่จะถูกตอบโต้ได้ดีขึ้น รวมทั้งการทำงานกับผู้ที่อาศัยอยู่นอกประเทศอันเป็นภูมิลำเนา
  • พัฒนากลไกเพื่อช่วยเหลือผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยที่มีความเสี่ยงภัยอย่างมากว่าจะตกเป็นเหยื่อของการปราบปรามข้ามชาติ เพื่อให้สามารถโยกย้ายไปอยู่ในประเทศที่สามได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว

สำหรับรัฐบาลหลายประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

  • กระตุ้นประเทศไทยให้ยุติความร่วมมือ และให้ไต่สวนเพื่อเอาผิดกับรัฐบาลต่างชาติ ที่อยู่เบื้องหลังการปราบปรามข้ามชาติในประเทศไทย รวมทั้งการคุกคาม การข่มขู่ และการลักพาตัวผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัย
  • แสดงความกังวลอย่างสม่ำเสมอและอย่างเปิดเผย ต่อกรณีของการปราบปรามข้ามชาติ เพื่อให้รัฐบาลไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชาn และจีนได้รับทราบ
  • ประกันว่า การปราบปรามข้ามชาติจะเป็นประเด็นที่มีการนำไปพิจารณา ในการตัดสินใจเพื่อจัดทำนโยบายสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศร่วมกับรัฐบาลอื่น
  • ช่วยเหลือประเทศไทยให้สามารถจัดสรรที่อยู่ใหม่อย่างปลอดภัยและอย่างรวดเร็วให้กับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัย ที่เสี่ยงอย่างมากว่าจะตกเป็นเหยื่อของการปราบปรามข้ามชาติ

กิตติกรรมประกาศ

เขียนโดย Caleb Quinley ที่ปรึกษาของฮิวแมนไรท์วอทช์ และบรรณาธิการโดย Phil Robertson รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย; James Ross, ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและนโยบาย และ Tom Porteous รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนงาน อ่านทบทวนโดย Bill Frelick ผู้อำนวยการฝ่ายสิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมือง Nadia Hardman นักวิจัยฝ่ายสิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมือง ความช่วยเหลือด้านบรรณาธิการและการผลิตโดย Audrey Gregg เจ้าหน้าที่แผนกเอเชีย; Maggie Svoboda, บรรณาธิการภาพถ่าย และ Travis Carr เจ้าหน้าที่สิ่งพิมพ์ดิจิทัล เราขอขอบคุณผู้เสียหายจากการปฏิบัติมิชอบ และครอบครัวของพวกเขา พยาน และผู้ที่บอกเล่าเรื่องราวและให้ข้อชี้แนะและความรู้ที่มีคุณค่ากับเรา