ในขณะที่วันต่อต้านยาเสพติดและการค้ายาเสพติดกำลังจะมาถึงในวันที่ 26 มิถุนายน เครือข่ายต่อต้านโทษประหารแห่งเอเชีย (Anti-Death Penalty Asia Network - ADPAN) ซึ่งมีองค์กรสมาชิกรวมถึงแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล ฮิวแมนไรท์ว็อชต์และสมาคมเพื่อการลดอันตรายสากล (International Harm Reduction Association) ขอเรียกร้องรัฐบาลทุกประเทศในเอเชียให้ยุติการใช้โทษประหารต่อความผิดด้านยาเสพติด
เป็นที่ชัดเจนว่า มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในระดับโลกที่จะควบคุมหรือยกเลิกโทษประหาร ประเทศเพียงส่วน้อยเท่านั้นที่ยังคงใช้โทษประหารต่อไป ในปี 2551 มีเพียง 25 ประเทศที่ยังลงโทษประหารอยู่ เครือข่ายต่อต้านโทษประหารแห่งเอเชีย ฮิวแมนไรท์ว็อชต์และสมาคมเพื่อการลดอันตรายสากลคัดค้านการใช้โทษประหารในทุกกรณีเพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน กล่าวคือสิทธิที่จะดำรงชีวิตและสิทธิที่จะปลอดพ้นจากการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี
16 ประเทศในเอเชียยังคงใช้บทลงโทษประหารชีวิตต่อความผิดด้านยาเสพติด เนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคนี้ไม่ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการลงโทษประหารอย่างชัดเจน เราจึงไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแน่นอนว่า มีการตัดสินลงโทษประหารในคดียาเสพติดมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และไทย มีรายงานที่ระบุถึงการใช้โทษประหารต่อผู้กระทำผิดในคดียาเสพติดเป็นสัดส่วนที่สูงมาก เครือข่ายต่อต้านโทษประหารแห่งเอเชีย ฮิวแมนไรท์ว็อชต์และสมาคมเพื่อการลดอันตรายสากลแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อกรณีประเทศจีน อินโดนีเซียและเวียดนามที่ยังคงประหารผู้กระทำผิดด้านยาเสพติดต่อไป และในบางประเทศอย่างเช่น จีน นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา และประเทศอินโดนีเซียในปี 2551 ประเทศทั้งสองได้ใช้โอกาสวันที่ 26 มิถุนายน เพื่อทำการประหารนักโทษ
แม้จะยังมีการประหารนักโทษในเอเชียแต่ก็ไม่มีหลักฐานชัดเจนที่แสดงให้เห็นถึงการลดลงของการค้ายาเสพติด ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับการใช้โทษประหารเพื่อเป็นเครื่องมือข่มขู่หรือปราบปราม ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าโทษประหารเป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลมากกว่าการลงโทษแบบอื่นสำหรับความผิดที่ถือว่าร้ายแรงโดยทั่วไป การสำรวจล่าสุดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโทษประหารกับความผิดต่อชีวิตขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2531 และมีการปรับปรุงข้อมูลในปี 2539 และ 2545 สรุปไว้ว่า "...งานวิจัยไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่า การประหารนักโทษจะส่งผลให้ประชาชนกลัวที่จะกระทำผิดมากกว่าการลงโทษด้วยการจำคุกตลอดชีวิต และดูเหมือนเราจะไม่สามารถหาหลักฐานดังกล่าวได้ในอนาคตอันใกล้ หลักฐานเท่าที่มีอยู่ไม่ได้สนับสนุนต่อข้อสมมติฐานว่าโทษประหารทำให้คนกลัวที่จะกระทำผิดเลย"
กลไกสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ อย่างเช่น ผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติด้านการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย และการสังหาร/ประหารโดยพลการ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมีข้อสรุปว่า การใช้โทษประหารกับคดียาเสพติดไม่เหมาะสมในฐานะที่เป็น "อาชญากรรมร้ายแรงสุด" ที่อาจอนุญาตให้มีการใช้โทษประหารได้ในฐานะเป็น "มาตรการที่เป็นข้อยกเว้น" ในกรณีที่ "มีเจตจำนงที่จะสังหารและทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต" (UN Doc, A/HRC/4/20, 29 มกราคม 2550 ย่อหน้า 53) คณะข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติและผู้อำนวยการสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ต่างแสดงข้อกังวลอย่างลึกซึ้งต่อการใช้โทษประหารสำหรับความผิดด้านยาเสพติด
บ่อยครั้งที่การลงโทษประหารเกิดขึ้นจากกระบวนการด้านกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และทำให้ปัญหาที่ร้ายแรงขึ้น เนื่องจากกฎหมายนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับความผิดด้านยาเสพติดที่เป็นอยู่ในประเทศเอเชียบางประเทศ ในประเทศบรูไน อินเดีย ลาว สิงคโปร์และมาเลเซีย มีการบังคับใช้โทษประหารสำหรับความผิดด้านยาเสพติดบางประเภท เป็นเหตุให้ผู้พิพากษาไม่สามารถใช้ดุลพินิจอื่นนอกเหนือจากการลงโทษประหารเมื่อพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำผิดด้านยาเสพติดได้ การบังคับใช้โทษประหารเป็นการละเมิดมาตรฐานสากลว่าด้วยการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม การลงโทษที่เหมาะสมกับการกระทำผิดของแต่ละบุคคลเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และการพรากชีวิตโดยพลการ สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการประหารชีวิตต่อหัวประชากรสูงสุดแห่งหนึ่งในโลก รวมทั้งมาเลเซียยังคงมีการสั่งลงโทษประหารต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ค้า ภายหลังการไต่สวนที่พบว่ามีความผิดตามคำฟ้อง และเป็นความผิดที่มีโทษประหารเชิงบังคับ
ในบางกรณีมีการนำคำสารภาพที่เกิดจากการบังคับมาใช้ และศาลได้ใช้ข้อมูลเช่นนั้นกำหนดโทษความผิดทั้งที่เป็นการลงโทษประหารและการประหารชีวิต จำเลยหลายคนไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านกฎหมายอย่างเหมาะสม รวมทั้งจำเลยที่ถูกฟ้องในข้อหายาเสพติด เป็นเหตุให้ไม่สามารถแก้ต่างสำหรับตนเองได้ตั้งแต่ช่วงต้นของกระบวนการยุติธรรม
การลงโทษอย่างรุนแรงในความผิดด้านยาเสพติดซึ่งรวมถึงการใช้โทษประหาร ยังส่งผลกระทบต่อโครงการสาธารณสุขที่มุ่งลดอันตรายด้านยาที่จะมีต่อตัวผู้ใช้ยาแต่ละคน บุคคลที่พวกเขารัก ชุมชน และประเทศต่าง ๆ จีน มาเลเซียและเวียดนาม ในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งเสริมโครงการลดอันตรายเพื่อลดการติดเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบซี และอันตรายเนื่องจากยาที่มีต่อสุขภาพและสังคม อย่างไรก็ตาม เป็นที่ประจักษ์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่าการลงโทษที่รุนแรงและการบังคับใช้กฎหมายปราบปรามยาเสพติดที่รุนแรง เป็นเหตุผลักดันให้กลุ่มเป้าหมายของโครงการลดอันตรายไม่เข้าถึงบริการดังกล่าว โทษประหารจึงไม่เพียงละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตของผู้ที่ถูกลงโทษ แต่ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อความพยายามลดอันตรายเนื่องจากยา
ในโอกาสวันต่อต้านยาเสพติดขององค์การสหประชาชาติปี 2552 เครือข่ายต่อต้านโทษประหารแห่งเอเชีย ฮิวแมนไรท์ว็อชต์และสมาคมเพื่อการลดอันตรายสากลขอเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในเอเชียให้
- กำหนดข้อตกลงชั่วคราวโดยทันทีเพื่อยุติโทษประหาร ทั้งนี้โดยมีเจตจำนงที่จะยกเลิกโทษประหารให้สอดคล้องกับมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติที่ 62/149 และ 63/168 ว่าด้วย "ข้อตกลงชั่วคราวเพื่อยุติการใช้โทษประหาร"
- ให้เปลี่ยนโทษประหารที่สั่งลงโทษไปแล้วสำหรับคดียาเสพติดเป็นโทษอย่างอื่นแทน
- ยกเลิกตัวบทของกฎหมายในประเทศซึ่งอนุญาตให้มีการใช้โทษประหารสำหรับความผิดด้านยาเสพติด
- ยกเลิกการใช้โทษประหารเชิงบังคับ
- ตีพิมพ์ เผยแพร่ข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับโทษประหารและการบริหารงานด้านยุติธรรมในคดีที่มีการใช้โทษประหาร
- ใช้โอกาสวันต่อต้านยาเสพติดปี 2552 เพื่อเน้นให้เห็นความสำคัญของนโยบายสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพในการลดอันตรายจากการใช้ยา