Skip to main content

ตู้ปณ. 4278

ซิดนีย์ NSW 2001 ออสเตรเลีย

โทรศัพท์: +61-26-9114-1764

เว็บไซต์: www.hrw.org/asia/australia อีเมล์: Australia@hrw.org   

 

26 กรกฎาคม 2560

 

ฯพณฯ จูลี บิชอป สส.และรัฐมนตรีต่างประเทศ

ตู้ปณ. 6022

อาคารรัฐสภา

House of Representatives Parliament House Canberra ACT 2600

 

อ้างถึง: ปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

 

เรียน รัฐมนตรีต่างประเทศ

ดิฉันเขียนจดหมายในนามฮิวแมนไรท์วอทช์ เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เราขอกระตุ้นให้ท่านใช้โอกาสที่จะกดดันรัฐบาลไทย ทั้งในทางสาธารณะและในการประชุมส่วนตัว เพื่อให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อปรับปรุงสถิติด้านสิทธิมนุษยชน และใช้มาตรการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อฟื้นฟูระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยโดยพลเรือน

 มีข้อกังวลสำคัญหลายประการ ซึ่งเราหวังว่าท่านจะหยิบยกมาพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สอดคล้องกับความเชื่อที่ท่านเคยบอกว่า “เรามักพบเห็นเสถียรภาพทางการเมืองที่ยั่งยืน จากการฟื้นฟูรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย ซึ่งบริหารประเทศตามหลักนิติธรรม”

 

อำนาจทหารที่กว้างขวาง ปราศจากการตรวจสอบและปราศจากความรับผิด

กองทัพไทยได้ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และได้ก่อตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขึ้นมา ในวันที่ 31 มีนาคม 2558 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ทั่วประเทศ ซึ่งต่อมาได้ถูกทดแทนด้วยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ซึ่งเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าคสช.สามารถใช้อำนาจอย่างปราศจากการกำกับดูแลหรือการตรวจสอบจากอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติหรือตุลาการ รวมทั้งสามารถละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ นอกจากนั้น มาตรา 47 ยังกำหนดให้ประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว “ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด” มาตรา 48 ยังกำหนดด้วยว่า สำหรับสมาชิกของคสช.และบุคคลใดซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในนามของคสช. "หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”

หน่วยงานตามรัฐธรรมนูญที่สำคัญซึ่งคสช.จัดตั้งขึ้นมา อย่างเช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปพ.) ล้วนแต่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารและผู้จงรักภักดีต่อรัฐบาลทหาร เป็นเหตุให้ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเป็นผลต่อระบอบปกครองของทหารเลย

รัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งมีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 ประกันว่า สมาชิกของคสช.จะไม่ต้องรับผิดใด ๆ ต่อการละเมิดสิทธิต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนับแต่ยึดอำนาจ ทั้งยังเพิ่มความเข้มแข็งและสืบทอดอำนาจปกครองประเทศของทหาร แม้จนภายหลังมีการเลือกตั้งซึ่งรัฐบาลทหารสัญญาว่าจะจัดขึ้นภายในปี 2561 แล้วก็ตาม

 

การเซ็นเซอร์และการจำกัดการแสดงออกอย่างเสรี  

ประเทศไทยได้ถูกปกครองด้วยกองทัพมาเป็นเวลากว่าสามปี คำสัญญาของรัฐบาลทหารที่จะปรองดองและเสนอ “โรดแมป” เพื่อฟื้นฟูระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยโดยพลเรือน เป็นคำสัญญาที่ว่างเปล่า เนื่องจากยังมีการเซ็นเซอร์และการดำเนินคดีกับผู้แสดงความเห็นต่างจากรัฐ

นับแต่ยึดอำนาจ รัฐบาลทหารได้ควบคุมจำกัดเสรีภาพสื่ออย่างเข้มงวด และทำการสอดแนมอย่างกว้างขวางทั้งในระบบอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารออนไลน์อื่น ๆ มีคำสั่งให้สื่อสิ่งพิมพ์ต้องไม่รายงานความเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลทหาร และมีการส่งทหารไปยังห้องข่าวต่าง ๆ เพื่อนำคำสั่งของรัฐบาลทหารไปให้กับบรรณาธิการและผู้สื่อข่าวโดยตรง มีคำสั่งให้สถานีโทรทัศน์และวิทยุต้องไม่นำเสนอรายงานที่เป็นลบต่อระบอบปกครองทหารในประเทศไทย สถานีโทรทัศน์ซึ่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเช่น Voice TV จึงถูกระงับการออกอากาศ และสถานีบางแห่งได้รับอนุญาตให้ออกอากาศอีกครั้ง เมื่อเห็นชอบว่าจะเซ็นเซอร์ตนเอง โดยห้ามไม่ให้มีผู้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ หรือหลีกเลี่ยงการพูดประเด็นทางการเมืองโดยสิ้นเชิง

ทางการไทยอ้างว่า หากปล่อยให้มีการพูดคุยทางการเมืองและการแสดงความเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง จะทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมและทำลายความมั่นคงแห่งชาติ และได้ใช้เหตุผลนี้เข้าทำการสั่งระงับการจัดกิจกรรมทางการเมือง การอภิปรายทางวิชาการ การสัมมนา และเวทีสาธารณะอื่น ๆ ในประเด็นซึ่งเกี่ยวกับสถานะของสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในประเทศไทย 

ทางการไทยยังคงสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองของบุคคลกว่าห้าคนขึ้นไป และกำหนดบทลงโทษกรณีที่ฝ่าฝืนเป็นการจำคุกหนึ่งปี หรือปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นักกิจกรรม นักการเมือง ผู้สื่อข่าวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่แสดงความเห็นต่างจากรัฐบาล ได้ถูกนำตัวเข้าค่ายทหารเพื่อสอบปากคำ ตามภาษาของคสช.ที่เรียกว่า “การปรับทัศนคติ” รัฐบาลทหารยังบังคับให้ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวจากการ “ปรับทัศนคติ” ต้องลงนามในบันทึกข้อตกลงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ว่าจะไม่แสดงความเห็นทางการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมือง หรือไม่ต่อต้านระบอบปกครองของทหาร โดยหากไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวอาจส่งผลให้ถูกสั่งควบคุมตัวอีกครั้ง หรือได้รับโทษจำคุกสองปี

ก่อนจะถึงการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 รัฐบาลทหารได้เร่งปราบปรามสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ โดยใช้อำนาจตามกฎหมายเผด็จการหลายฉบับ อย่างเช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาในข้อหายุยงปลุกปั่น รวมทั้งประกาศคำสั่งซึ่งเซ็นเซอร์สื่อมวลชน และห้ามการชุมนุมสาธารณะของบุคคลกว่าห้าคนขึ้นไป ทางการไทยได้จับกุมบุคคลอย่างน้อย 120 คน รวมทั้งนักการเมือง นักกิจกรรม ผู้สื่อข่าว และผู้สนับสนุนกลุ่มการเมืองซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งได้ประกาศอย่างเปิดเผยว่าจะออกเสียงไม่เห็นชอบ กระตุ้นให้ผู้มีสิทธิไปออกเสียงไม่รับรองร่างรัฐธรรมนูญ หรือพยายามตรวจสอบกระบวนการออกเสียง 

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ของไทย ซึ่งผ่านการรับรองของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลทหารเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ให้อำนาจกับรัฐบาลอย่างกว้างขวางในการจำกัดการแสดงความเห็นอย่างเสรีและการเซ็นเซอร์ กฎหมายดังกล่าวใช้เหตุผลที่คลุมเครือและกว้างขวาง ให้อำนาจรัฐบาลในการดำเนินคดีกับบุคคลใดที่ถูกมองว่าเผยแพร่ข้อมูล “อันเป็นเท็จ” หรือ “บิดเบือน” แม้แต่เนื้อหาทางอินเตอร์เน็ตซึ่งไม่ผิดกฎหมายก็อาจถูกสั่งห้าม หรือถูกสั่งให้ลบตามคำสั่งศาล ขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ ที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรณีที่ระบุว่าเนื้อหานั้นขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การตีความของทางการไทยเช่นนี้ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการรายงานข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชน ภายหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐบาลได้ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ของฮิวแมนไรท์วอทช์ ประเทศไทย ซึ่งทางการอ้างว่ามีข้อมูลที่ “ไม่เหมาะสม”

บุคคลที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นความผิดอาญาร้ายแรงในประเทศไทย มักไม่ได้รับการประกันตัว และมักถูกควบคุมตัวในเรือนจำเป็นเวลาหลายเดือนระหว่างรอการพิจารณา ดังเช่นกรณีของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยคนสำคัญ เขาถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและความผิดทางคอมพิวเตอร์ จากการแชร์พระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร กษัตริย์พระองค์ใหม่ ในเฟซบุ๊กของเขา เป็นรายงานที่ตีพิมพ์โดยสำนักข่าวบีบีซีภาคภาษาไทย  ทางการไทยเห็นว่าบทความดังกล่าววิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากเกินไป และปิดกั้นไม่ให้สามารถเข้าถึงได้จากประเทศไทย นับแต่รัฐประหารเดือนพฤษภคม 2557 มีบุคคลอย่างน้อย 105 คนที่ถูกจับกุมในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่วนใหญ่เป็นเพราะการโพสต์หรือแชร์ความเห็นออนไลน์ หลายคนถูกตัดสินว่ามีความผิดและได้รับโทษจำคุกหลายปีหรือหลายทศวรรษ ในเดือนพฤษภาคม 2560 ทางการไทยขู่ที่จะปิดกั้นไม่ให้ผู้ใช้งานในประเทศไทยสามารถเข้าถึงเฟซบุ๊ก เพื่อกดดันให้โซเชียลมีเดียดังกล่าวปิดกั้นหรือลบเนื้อหาที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเกิดจากการโพสต์ของผู้ใช้งานหลายคน นับแต่ปี 2559 รัฐบาลไทยได้ร้องขอซ้ำแล้วซ้ำอีกให้รัฐบาลสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สวีเดน ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น กัมพูชา และลาว ส่งตัวพลเมืองไทยซึ่งลี้ภัยอยู่ที่นั่น กลับมาดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  

 

การควบคุมตัวแบบลับและโดยพลการและศาลทหาร

ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และ 13/2559 กองทัพสามารถควบคุมตัวบุคคลแบบลับโดยไม่มีข้อหาหรือไม่มีการไต่สวน และสามารถสอบปากคำพวกเขาโดยไม่ให้เข้าถึงทนายความ หรือไม่มีหลักประกันเพื่อป้องกันการปฏิบัติมิชอบ รัฐบาลทหารได้ปฏิเสธอย่างต่อเนื่องถึงข้อกล่าวหาว่า ทหารได้ซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัว แต่ก็ไม่ได้ให้หลักฐานเพื่อโต้แย้งกับข้อกล่าวหาดังกล่าวเลย

ฮิวแมนไรท์วอทช์มักแสดงข้อกังวลอย่างร้ายแรงต่อการควบคุมตัวแบบลับของกองทัพในประเทศไทย ความเสี่ยงที่จะเกิดการบังคับบุคคลให้สูญหาย การทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างอื่น จะเพิ่มขึ้นมากเมื่อบุคคลถูกควบคุมตัวโดยทหารและไม่ได้รับการติดต่อกับโลกภายนอก รัฐบาลทหารยังคงปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่ถูกควบคุมตัวแบบลับ นอกจากนั้น ไม่มีสัญญาณบ่งบอกว่าทางการไทยได้ทำการสอบสวนอย่างจริงจังหรือน่าเชื่อถือ เมื่อมีรายงานว่าเกิดการซ้อมทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อบุคคลที่ถูกทหารควบคุมตัว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่รัฐบาลทหารแต่งตั้ง มีมติชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายพ.ศ. ....ออกไปโดยไม่มีกำหนด และรัฐบาลไม่ได้ชี้แจงว่าจะมีการนำร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาอีกหรือไม่

การใช้ศาลทหารซึ่งขาดความเป็นอิสระ และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการพิจารณาที่เป็นธรรมระหว่างประเทศ เพื่อไต่สวนพลเรือนยังคงเป็นปัญหาสำคัญ ในเดือนกันยายน 2559 นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ได้ยกเลิกคำสั่งคสช.ซึ่งให้อำนาจศาลทหารในการไต่สวนคดีต่อพลเรือนในความผิดต่อความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและข้อหายุยงปลุกปั่นทางการเมือง  อย่างไรก็ดี คำสั่งดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลังและไม่มีผลใด ๆ ต่อกว่า 1,800 คดี เป็นเหตุให้พลเรือนเหล่านั้นยังคงต้องเข้ารับการไต่สวนในศาลทหารทั่วประเทศไทย

 

การปฏิบัติมิชอบต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

รัฐบาลไทยมีพันธกรณีต้องประกันให้ บุคคลทุกคนและหน่วยงานทุกแห่งที่มีส่วนร่วมในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สามารถปฏิบัติหน้าที่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุน อย่างไรก็ดี หน่วยงานของกองทัพและหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ ได้ใช้การดำเนินคดีอาญา รวมทั้งข้อหาหมิ่นประมาทและข้อหายุยงปลุกปั่น เพื่อตอบโต้นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และทำให้เกิดปัญหายุ่งยากมากขึ้นสำหรับผู้เสียหายที่จะร้องเรียน

ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนพฤษภาคม 2559 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ได้แจ้งความดำเนินคดีอาญากับนายสมชาย หอมลออ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และน.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยกล่าวหาว่าพวกเขาหมิ่นประมาททางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา และการตีพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นการแจ้งความเนื่องมาจากรายงานที่จัดทำโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี ซึ่งเก็บข้อมูลการซ้อมทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อผู้ต้องสงสัยว่าเข้าร่วมกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ถูกทหารควบคุมตัว 54 กรณีในระหว่างปี 2547-2558 หากศาลตัดสินว่ามีความผิด นักกิจกรรมเหล่านี้อาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกิน 100,000 บาท ในวันที่ 7 มีนาคม 2560 ก่อนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะทบทวนพันธกรณีของประเทศไทยตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ทางกองทัพประกาศว่าจะยุติการดำเนินคดีนี้ แต่จนถึงปัจจุบันการดำเนินคดียังเกิดขึ้นต่อไป

ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น และความผิดอาญาอื่น ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ได้รับโทษจำคุกอย่างน้อย 10 ปี รัฐบาลทหารได้แจ้งความดำเนินคดีเพื่อตอบโต้กับการปฏิบัติหน้าที่ทนายความของศิริกาญจน์ ซึ่งว่าความให้กับนักศึกษา 14 คนที่ถูกจับเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 หลังการชุมนุมประท้วงอย่างสงบในกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและยุติระบอบปกครองของทหาร

 

ข้อเสนอแนะ

นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ได้กล่าวครั้งแล้วครั้งเล่าในประเทศไทยและในเวทีระหว่างประเทศ ว่ารัฐบาลมีพันธกิจจะฟื้นฟูระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยโดยพลเรือนในประเทศไทย และบอกว่ารัฐบาลทหารให้ความสำคัญเร่งด่วนกับภาพลักษณ์ของประเทศไทยในระดับนานาชาติ เพื่อให้คำสัญญานี้เป็นผลอย่างจริงจังและน่าเชื่อถือ ท่านควรเน้นย้ำต่อรัฐบาลไทย ถึงความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างชัดเจนเพื่อเคารพสิทธิมนุษยชนและฟื้นฟูหน่วยงานการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยพลเรือน

 ออสเตรเลียควรเตรียมพร้อมที่จะพูดคุยทั้งอย่างเปิดเผยและเป็นการส่วนตัว เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ดำเนินการดังต่อไปนี้โดยทันที

  • ยุติการใช้อำนาจอย่างมิชอบและปราศจากความรับผิดตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
  • ยุติการจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ
  • ยกเลิกคำสั่งห้ามการจัดกิจกรรมทางการเมือง
  • ปล่อยตัวผู้ที่เห็นต่างจากรัฐและบุคคลอื่นที่ถูกควบคุมตัวเพราะการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบต่อรัฐบาลทหาร
  • ยกเลิกการดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นและคดีอาญาอื่น ๆ อันเป็นผลมาจากการแสดงการต่อต้านอย่างสงบในระหว่างการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนสิงหาคม 2559
  • ให้ถ่ายโอนคดีของพลเรือนทั้งหมดจากศาลทหาร เข้าสู่การพิจารณาของศาลพลเรือน ซึ่งมีมาตรฐานทัดเทียมกับมาตรฐานการพิจารณาที่เป็นธรรมระหว่างประเทศ และ
  • ประกันให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุนต่อการดำเนินงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยกเลิกการดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อพวกเขา

เราขอขอบคุณที่ท่านใส่ใจต่อข้อกังวลของเรา และเชื่อมั่นว่าท่านจะนำเสนอประเด็นเหล่านี้ในระหว่างการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทย การยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อการฟื้นฟูระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยโดยพลเรือนอย่างแท้จริงในประเทศไทย

เรายินดีให้ข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นใด ๆ หรือกรณีใด ๆ ที่กล่าวถึงในจดหมายนี้

 

ขอแสดงความนับถือ

 

 

อีเลน เพียร์สัน (Elaine Pearson)

ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ออสเตรเลีย

 

สำเนา พอล โรบินลาด (Paul Robilliard) เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย

 

 

 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.

Most Viewed