Skip to main content

ประเทศไทย: ปฏิบัติตามขั้นตอนสุดท้ายของการรับรองอนุสัญญาคนหาย

ออกกฎหมายเพื่อลงโทษการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย

นายกรัฐมนตรีไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางมาถึงในการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ ประเทศไทย 17 มกราคม 2560  © 2017 Reuters/Chaiwat Subprasom

(นิวยอร์ก) – รัฐบาลไทยควรดำเนินการในขั้นตอนสุดท้ายของการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ รัฐบาลยังควรดำเนินการโดยทันที เพื่อออกกฎหมายที่เอาผิดกับการทรมานและการสูญหายของบุคคล

ในวันที่ 10 มีนาคม 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากทหาร มีมติเป็นเอกฉันท์ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามไว้ตั้งแต่ปี 2555 อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน ทั้งการส่งมอบสัตยาบันสารให้กับเลขาธิการองค์การสหประชาชาติตามข้อกำหนด หรือการทบทวนและการผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ....เป็นกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้ทางสนช.ได้เลื่อนการพิจารณาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์

ประเทศไทยมีกำหนดต้องให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในระหว่างวันที่ 13 และ 14 มีนาคม เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถิติสิทธิทางพลเรือนและทางการเมืองของตน

“รัฐบาลไทยควรดำเนินการในขั้นตอนสุดท้ายเพื่อรับรองอนุสัญญาคนหาย และออกกฎหมายอาญาที่จำเป็นเพื่อให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าพนักงานที่มีส่วนรับผิดชอบต่อความผิดที่เลวร้ายยิ่งเช่นนี้” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “หลังจากรอมาหลายปี การให้คำสัญญาเพิ่มเติมยังไม่เพียงพอ รัฐบาลต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อบัญญัติเป็นกฎหมาย ลงโทษอย่างรุนแรงต่อการกระทำที่เป็นการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย”

ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ...ซึ่งหากผ่านเป็นกฎหมาย จะนับเป็นกฎหมายไทยฉบับแรกที่รับรองและเอาผิดทางอาญากับการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายในหรือภายนอกประเทศไทย ที่สำคัญ ร่างพระราชบัญญัติฉบับปัจจุบันไม่กำหนดข้อยกเว้นหรือภูมิคุ้มกันทางกฎหมาย ให้กับการกระทำที่เกิดขึ้นในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือในพฤติการณ์พิเศษอื่นใด โดยผู้ที่ศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานกระทำการทรมานหรือการบังคับบุคคลให้สูญหาย อาจได้รับโทษจำคุกขั้นต่ำ 20 ปี และจะเพิ่มโทษจำคุกมากขึ้นกรณีซึ่งทำให้เกิดอาการบาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ชีวิต ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าพนักงานระดับสูง ซึ่งจงใจเพิกเฉยปล่อยให้เกิดการกระทำผิด ยังอาจได้รับโทษจำคุกเช่นกัน

ที่ผ่านมาฮิวแมนไรท์วอทช์ได้กระตุ้นรัฐบาลไทยทุกคณะในเรื่องนี้ รวมทั้งเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2560 เราได้มีจดหมายไปถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกร้องให้รัฐบาลให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาต่อต้านการบังคับบุคคลให้สูญหาย และให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเพื่อกำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นฐานความผิดอาญาอย่างหนึ่ง ภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้แสดงข้อกังวลอย่างจริงจังต่อกรณีที่รัฐบาลใช้อำนาจทหารเพื่อควบคุมตัวบุคคลแบบลับ โดยอ้างอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 (โดยเป็นการควบคุมตัวผู้เห็นต่างทางการเมืองและผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง) รวมทั้งการอ้างอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2547 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2553 (ที่ใช้กับผู้ต้องสงสัยในคดีก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้)

การบังคับบุคคลให้สูญหายได้รับการนิยามตามกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าหมายถึงการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลโดยเจ้าพนักงานของรัฐหรือตัวแทน และต่อมามีการปฏิเสธไม่ยอมรับว่ามีการควบคุมตัวบุคคลเช่นนั้น หรือไม่ยอมเปิดเผยชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลดังกล่าว การบังคับบุคคลให้สูญหายละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหลายประการซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งข้อห้ามต่อการจับกุมหรือควบคุมตัวโดยพลการ การทรมานและการปฏิบัติอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย

นับแต่ปี 2523 คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances) ได้เก็บข้อมูลการบังคับบุคคลให้สูญหาย 82 กรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความมุสลิมคนสำคัญเมื่อเดือนมีนาคม 2547 และนายพอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่) นักกิจกรรมชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงเมื่อเดือนเมษายน 2557 ที่ผ่านมาทางการไทยไม่สามารถคลี่คลายคดีการหายตัวไปเหล่านี้ได้สำเร็จเลย ฮิวแมนไรท์วอทช์และกลุ่มสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ซึ่งทำงานในประเทศไทยเชื่อว่า จำนวนการสูญหายของบุคคลที่แท้จริงในไทยน่าจะสูงกว่านี้ เนื่องจากครอบครัวของผู้เสียหายและพยานอาจไม่กล้าร้องเรียนเนื่องจากกลัวจะถูกตอบโต้ และเนื่องจากรัฐบาลไม่มีระบบคุ้มครองพยานที่เป็นผล

การทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี เป็นข้อห้ามตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศและกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ นับแต่เดือนตุลาคม 2550 ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) ซึ่งกำหนดอย่างชัดเจนเป็นพันธกรณีให้รัฐบาลต้องสอบสวนและดำเนินคดีต่อการกระทำที่เป็นการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ข้อความใด ๆ ที่ได้มาจากการทรมาน “จะต้องไม่นำมาอ้างใช้เป็นหลักฐานในกระบวนการยุติธรรม เว้นแต่เป็นการอ้างใช้เพื่อเอาผิดกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำการทรมานและได้มาซึ่งข้อความดังกล่าว”

รัฐบาลไทยชุดที่ผ่าน ๆ มามักบอกปัดข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ หรือฝ่ายความมั่นคงอื่น ๆ ทำการทรมานและปฏิบัติที่โหดร้ายต่อผู้ถูกควบคุมตัว โดยทางการไม่สามารถให้หลักฐานตอบโต้ข้อกล่าวหาเหล่านั้นเลย และที่ผ่านมามักจะโจมตีผู้กล่าวหา โดยทางการมักกล่าวหาว่าข้อร้องเรียนเหล่านั้นเป็นข้อมูลเท็จที่มีเจตนาทำลายชื่อเสียงของประเทศไทย

ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า กำหนดการที่ประเทศไทยต้องตอบข้อซักถามของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเดือนมีนาคม เป็นโอกาสที่จะประเมินความจริงจังของรัฐบาลในการแก้ปัญหาคนหายและการปรับปรุงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน

“หากรัฐบาลไทยต้องการอธิบายให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเชื่อมั่นว่าตนเองมีความจริงจังในการแก้ปัญหาการทรมาน การสูญหายของบุคคล และการปฏิบัติมิชอบที่ร้ายแรงอื่น ๆ รัฐบาลไทยต้องทำมากกว่าพูดถึงสิ่งที่วางแผนจะทำ” อดัมส์กล่าว “รัฐบาลไทยจะสามารถยุติสถิติความล้มเหลวที่เลวร้ายมายาวนานได้ ก็ด้วยการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาคนหายและการออกกฎหมายบังคับใช้ที่เข้มแข็งเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้มีการสอบสวนและดำเนินคดีต่อกรณีการทรมานและการสูญหายของบุคคลอย่างเต็มที่ เพื่อยุติวงจรการปฏิบัติมิชอบและการลอยนวลพ้นผิด” 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.

Topic