นับแต่ทางการไทยได้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของรัฐบาลและสมาคมกีฬาหลายแห่ง เพื่อให้ปล่อยตัวอัล อาไรบี ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้เปิดตัวโครงการรณรงค์ออนไลน์ #SaveHakeem เพื่อกระตุ้นนักกีฬาและบุคคลที่กังวลสนใจทั่วโลก ให้เขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาของไทย
“ฮาคิม อัล อาไรบีเป็นนักฟุตบอลที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัย แต่ดูเหมือนว่าทางการไทยมีแผนการบังคับส่งกลับตัวเขาไปบาห์เรน ซึ่งจะเป็นเหตุให้เขาได้รับการทรมาน หรือการปฏิบัติที่เลวร้ายกว่านั้น” มิงกี วอร์เดน (Minky Worden) ผู้อำนวยการกิจกรรมระดับโลกของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “นักกีฬาหลายคน รัฐบาลออสเตรเลีย ฟีฟ่า และคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ต่างเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขา และประเทศไทยควรอนุญาตให้เขาเดินทางกลับไปหาภรรยาและเพื่อนร่วมทีมในออสเตรเลียทันที”
อัล อาไรบี เป็นพลเมืองสัญชาติบาห์เรนซึ่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในออสเตรเลียเมื่อปี 2560 เขาบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ ว่า: “บาห์เรนเป็นประเทศที่ไม่มีสิทธิมนุษยชน ชีวิตของผมอยู่ในอันตราย ฟีฟ่าควรคุ้มครองผมและผู้เล่นทุกคน”
เขาถูกจับกุมเป็นครั้งแรกที่บาห์เรนเมื่อปี 2555 และบอกว่าเขาได้ถูกทรมานระหว่างการควบคุมตัว อันเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของน้องชายของเขา ในปี 2557 เขาถูกศาลตัดสินอย่างไม่เป็นธรรมว่ามีความผิดฐานทำลายโรงพัก ซึ่งในขณะที่เกิดเหตุนั้น อัล อาไรบีอยู่ระหว่างเล่นฟุตบอลที่มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ด้วย ถึงอย่างนั้น ศาลตัดสินให้เขาได้รับโทษจำคุก10 ปี โดยเป็นการพิจารณาลับหลัง และต่อมาในปี 2557 เขาได้หลบหนีไปออสเตรเลีย
ฮิวแมนไรท์วอทช์เก็บข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับ การทรมาน และ การปฏิบัติที่โหดร้าย อย่างกว้างขวางของเจ้าหน้าที่บาห์เรนต่อนักเคลื่อนไหวและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่ถูกควบคุมตัว นับแต่เกิดเหตุประท้วงรัฐบาลเมื่อปี 2554
ประเทศไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักการไม่ส่งกลับ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และห้ามการส่งกลับบุคคลไปยังที่ใด ๆ ที่มีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่าจะถูกประหัตประหาร ถูกทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติที่โหดร้าย หรือถูกคุกคามเอาชีวิต นอกจากนั้น อนุสัญญาต่อต้านการทรมานแหงสหประชาชาติซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ยังห้ามไม่ให้รัฐบาลส่งบุคคลกลับ หรือส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศใด ๆ กรณีมีเหตุอันน่าเชื่อถือว่า บุคคลนั้นจะได้รับอันตรายจากการทรมาน
เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทยควบคุมตัวอัล อาไรบีไว้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 ขณะที่เดินทางมาถึงจากออสเตรเลียพร้อมกับภรรยาที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อฮันนีมูน เจ้าหน้าที่แจ้งต่ออัล อาไรบีว่า พวกเขาปฏิบัติหน้าที่ตาม “หมายแดง” ของตำรวจสากล และต้องส่งตัวเขากลับไปบาห์เรน หมายแดงฉบับดังกล่าวเป็นการออกตามคำขอของทางการบาห์เรน ขัดกับนโยบายของตำรวจสากล ที่ห้ามการออกหมายจับของรัฐบาลต่อผู้ลี้ภัย ซึ่งหลบหนีการประหัตประหารมาจากประเทศที่ขอออกหมายจับ
ในปัจจุบันอัล อาไรบีเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เล่นให้สโมสรพาสโค เวลที่กรุงเมลเบิร์น เขายังคงแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลบาห์เรนอย่างเปิดเผย
อัล อาไรบียังวิพากษ์วิจารณ์เชกซัลมาน อัล-คาลิฟา ประธานสหพันธ์ฟุตบอลเอเชียคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นชาวบาห์เรน และยังเป็นรองประธานฟีฟ่า และเป็นสมาชิกราชวงศ์บาห์เรน อัล อาไรบีกล่าวหาว่า เชกซัลมานไม่ดำเนินการให้ยุติการประหัตประหาร และการทรมานนักกีฬาที่เข้าร่วมการประท้วงเมื่อปี 2554 ในบาห์เรน
“เชกซัลมานในฐานะผู้บริหารระดับสูงทั้งของฟีฟ่า และสมาชิกราชวงศ์บาห์เรน อยู่ในตำแหน่งที่สามารถยุติการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนครั้งนี้ได้” วอร์เดนกล่าว “ถ้าเขาใส่ใจต่อสถานะของตนเองในฟุตบอลระดับเอเชีย เขาควรกดดันประเทศไทยให้ปล่อยตัวฮาคิม”
อัล อาไรบีได้กล่าวกับฮิวแมนไรท์วอทช์ ระหว่างถูกกักตัวในประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมว่า “ผมต้องการบอก [จีแอนนี] อินฟานติโน ประธาน [ฟีฟ่า] ว่า เขามีอำนาจที่จะช่วยชีวิตผมได้ และผมอยากร้องขอความช่วยเหลือจากเขา”
ฟีฟ่าได้เข้ามาแทรกแซงในกรณีของอัล อาไรบี แต่ควรทำมากกว่านั้น ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว ในวันที่ 23 มกราคม 2562 ฟัตมา ซามัวรา เลขาธิการฟีฟ่าเขียนจดหมาย ถึงประยุทธ์เรียกร้องให้มี “ผลลัพธ์อย่างมีมนุษยธรรม” ในกรณีของอัล อาไรบี
ช่วงที่ผ่านมาฟีฟ่าได้ปฏิรูปโครงสร้างองค์กรหลายประการ เพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชน และ ควรใช้ข้อได้เปรียบของตน เพื่อขัดขวางไม่ให้มีการบังคับส่งตัวอัล อาไรบีกลับไปบาห์เรน
ข้อได้เปรียบที่ว่ารวมถึงการที่ประเทศไทยแสดงความประสงค์ที่จะเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลก ไทยและอินโดนีเซียต่างเสนอตัวที่จะเป็นเจ้าภาพร่วมจัดฟุตบอลโลกปี 2034
“ประเทศไทยระบุว่า ประสงค์จะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2034” วอร์เดนกล่าว “ซึ่งตามหลักเกณฑ์ใหม่ในการเสนอตัวของฟีฟ่า ประเทศซึ่งจะเป็นเจ้าภาพทุกแห่ง ต้องรายงานบรรยากาศด้านสิทธิมนุษยชนของตน การส่งตัวนักฟุตบอลไปยังที่ที่มีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่าจะถูกทรมาน ย่อมเป็นรอยด่างดำต่อประวัติของประเทศไทยเอง”