Skip to main content

จดหมายร่วมเปิดผนึก เรื่องการรักษากฎระเบียบและมาตรการด้านการประมงไว้อย่างไม่ผ่อนปรน เพื่อป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

เรื่อง: กฎระเบียบและมาตรการด้านประมงควรถูกคงรักษาไว้อย่างไม่ผ่อนปรน

เรียน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในฐานะกลุ่มองค์กรที่ทำงานเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมประมงที่ถูกกฎหมาย  ยั่งยืน และมีมนุษยธรรมในประเทศไทย  เราเขียนหนังสือฉบับนี้ขึ้นเพื่อเรียนให้ท่านทราบถึงความกังวลอย่างยิ่งของเราต่อข้อเรียกร้องของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย

ประเทศไทยในการแก้กฎหมายและกฎระเบียบกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านประมงและขอความอนุเคราะห์ให้ทางรัฐบาลดำเนินการเพื่อยับยั้งเหตุนี้โดยเร็ว

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้ร้องขอให้ทางรัฐบาลยกเลิกกฎหมายและกฎระเบียบกฎระเบียบต่างๆที่ออกมาเพื่อป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing)  และการละเมิดสิทธิมนุษยชนบนเรือประมงอย่างต่อเนื่อง เราขอเรียกร้องและสนับสนุนให้รัฐบาลไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมประมง และกระทรวงแรงงาน ปฏิเสธการตอบสนองข้อเรียกร้องของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และมุ่งมั่นทำงานเพื่อรักษาและยกระดับความสำเร็จในด้านกฎระเบียบด้านประมงและแรงงานให้เป็นที่ยอมรับต่อสากลโลกต่อไป

เราทราบว่าสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้มีการหารือและเสนอข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้เพื่อให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา:

  • ให้อนุญาตให้มีการเปลี่ยนถ่ายลูกเรือประมงและการขนถ่ายสัตว์น้ำระหว่างเรือประมง: การอนุญาตให้กระทำกิจกรรมเหล่านี้จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานเพื่อตรวจสอบสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ของลูกเรือประมงได้ยากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้ลูกเรือประมงถูกละเมิดสิทธิและบังคับให้ทำงานบนเรือไปเรื่อย ๆ โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถรับรู้ได้ โดยในอดีตนั้น  กิจกรรมเหล่านี้เป็นกลยุทธ์ที่เจ้าของเรือประมงที่การประมงผิดกฎหมายใช้เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือมาจากการค้ามนุษย์หลบหนีหรือถูกจับกุม แรงงานเหล่านี้มักถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว และบังคับให้ทำงานอยู่แต่บนเรือประมงในทะเลเป็นหลายเดือนหรือหลายปี เมื่อไม่กี่ปีก่อนการปฏิรูปอุตสาหกรรมประมง กรณีดังกล่าวยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ[1] นอกจากนี้ การขนถ่ายสัตว์น้ำระหว่างเรือประมงยังก่อให้เกิดช่องว่างให้สามารถนำผลผลิตจากการทำประมงที่ผิดกฎหมายมาสวมรอบให้ผลผลิตที่ถูกกฎหมาย และก่อให้เกิดปัญหาทั้งด้านการทำประมงผิดกฎหมายและความยั่งยืน
  • ขยายเวลาเพื่ออนุญาตให้เจ้าของเรือสามารถแก้ไขรายชื่อลูกเรือหลังจากแจ้งออกจากท่าเรือ: การอนุญาตเช่นนี้จะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการค้ามนุษย์ การละเมิดสิทธิแรงงาน และการใช้แรงงานที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมายเนื่องจากเรือประมงสามารถเพิ่มลูกเรือหลังจากได้รับการตรวจเรือประมงเรียบร้อย โดยไม่ต้องได้รับการตรวจตราจากเจ้าหน้าที่อีก
  • ขยายวันออกทำการประมงต่อเที่ยวการประมง (ปัจจุบันเรือประมงในน่านน้ำไทยสามารถออกทำการประมงได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน): การกระทำเช่นนี้อาจก่อให้เกิดการลงแรงประมงเพิ่มขึ้นสู่ระดับที่อยู่เหนือกว่าความยั่งยืน และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเปลี่ยนถ่ายลูกเรือประมงเนื่องจากเรือประมงสามารถออกไปทำประมงได้ไกลยิ่งขึ้นภายใต้ระยะเวลาที่นานขึ้น
  •  ให้ยกเลิกกฎระเบียบที่บังคับให้เรือประมงกรอกพิกัดแหล่งการทำประมงในสมุดบันทึกข้อมูลการทำประมง: พิกัดของแหล่งการทำประมงที่แน่ชัดนั้นเป็นข้อมูลสำคัญในการช่วยยืนยันว่าสัตว์น้ำถูกจับในเขตการทำประมงที่ถูกกฎหมาย ข้อมูลชนิดนี้ยังเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการบริหารจัดการประมงที่มีประสิทธิภาพ หากกฎระเบียบข้อนี้ถูกยกเลิกไปจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการปรับปรุงและส่งเสริมให้เรือประมงไทยก้าวเข้าสู่การทำประมงอย่างยั่งยืนและถูกกฎหมาย
  • อนุญาตให้เรือกลุ่ม ‘ ขาวส้ม ‘ ที่ถูกตรึงพังงาได้รับการต่อทะเบียนประมง: เรือประมงกลุ่มดังกล่าวนี้ได้รับคำสั่งให้ถูกตรึงพังงาเมื่อพ.ศ. 2558[2] หลังจากถูกตรวจสอบพบว่ามีทะเบียนเรือหรือใบอนุญาตการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การอนุญาตให้เรือประมงเหล่านี้ได้รับการต่อทะเบียนและกลับไปทำการประมง อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อทรัพยากรประมงซึ่งกำลังอยู่ในระยะแรกเริ่มของการฟื้นฟู เนื่องจากความเสี่ยงในการทำประมงมากเกินไปนั้นเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การนำเรือประมงเหล่านี้กลับเข้ามาสู่ในระบบยังอาจทำให้แผนการซื้อเรือคืนเพื่อการบริหารจัดการและลดจำนวนเรือประมงให้สอดคล้องกับกับสภาวะทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย เนื่องจาก หาก การลงแรงประมงไม่สามารถถูกควบคุมให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับความยั่งยืนของทรัพยากร ความพยายามเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมความยั่งยืนของทรัพยากรประมงในระยะยาวก็จะไม่เกิดผลสำเร็จ ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อหลายปัจจัย เช่น สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล วิถีชีวิตของชาวประมงและชุมชนชายฝั่ง รวมไปถึงภาคธุรกิจซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก

นอกเหนือจากข้อเรียกร้องที่ถูกอ้างอิงด้านบนสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยยังขอให้มีการยกเลิกข้อบังคับให้เรือประมงเข้ารับการตรวจเรือประจำปีเพื่อตรวจสอบสภาพเรือและสวัสดิภาพของลูกเรือประมง และยังขอให้ผ่อนปรนการกรอกข้อมูลในแบบจัดเวลาพักในงานประมง ปม.2 การแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าวนั้นก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่ดีของลูกเรือประมง และยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานทำการพิสูจน์และระบุลูกเรือประมงที่อาจเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์หรือการบังคับใช้แรงงาน

กฎระเบียบทั้งหมดที่ถูกอ้างอิงด้านบนล้วนแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการติดตาม การควบคุม และ. การเฝ้าระวังการด้านการทำประมง (MCS) ของประเทศไทย การยกเลิกหรือผ่อนปรนมาตรการและกลไกเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการพัฒนาและความสำเร็จที่ถูกสร้างขึ้นจากการปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2558 กฎระเบียบเหล่านี้ช่วยสร้างกลไกด้านความโปร่งใสให้แก่อุตสาหกรรมที่เคยตรวจสอบได้ยากและขาดความรับผิดชอบต่อสังคม และช่วยยืนยันว่าอาหารทะเลของประเทศไทยมาจากการทำประมงอย่างถูกกฎหมาย และไม่ขัดต่อหลักมนุษยธรรมและความยั่งยืน กลไกเหล่านี้ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจยกเลิกใบเหลืองและเพิกถอนประเทศไทยจากกลุ่มประเทศที่ถูกเตือนเรื่องทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมของคณะกรรมาธิการยุโรป  และการปรับอันดับให้ประเทศไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) สหรัฐอเมริกา

การปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงนี้จำเป็นต้องถูกพิจารณาร่วมกับอดีตของอุตสากรรมประมงในประเทศไทย ในอดีต เกิดเหตุเรือประมงของประเทศไทยที่ละเมิดกฎหมายและลักลอบการทำประมงผิดในประเทศเพื่อนบ้านแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่หลายกรณี[3] การค้ามนุษย์ การทำร้ายร่างกาย และการเอารัดเอาเปรียบลิดรอนสิทธิแรงงานยังเกิดขึ้นแพร่หลายในเรือประมงไทย[4][5][6][7]บทลงโทษและโทษปรับที่ไม่รุนแรงพอประกอบกับอุตสาหกรรมที่ขาดความโปร่งใสยังเว้นช่องว่างให้ผู้ประกอบการที่ขาดจรรยาบรรณและจริยธรรมสามารถกระทำผิดได้[8][9] และปัจจัยเหล่านี้เองที่ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของอุตสาหกรรมประมงไทย โดยผู้นำในภาคอุตสาหกรรมก็ได้เล็งเห็นถึงผลกระทบร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากการเสียชื่อเสียงของประเทศไทยจากการทำประมงผิดกฎหมายเช่นกัน[10][11]

ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 รัฐบาลไทยได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมประมงที่เรื้อรังมาตั้งแต่ในอดีต ด้วยความอุตสาหะและทุ่มเทกำลังพลเพื่อก่อให้เกิดการปฏิรูปที่มีประสิทธิภาพ และด้วยผลของความพยายามนี้เอง คณะกรรมาธิการยุโรปจึงได้ตัดสินใจเพิกถอนใบเหลืองให้ประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา การยอมรับข้อเรียกร้องของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเพื่อเพิกถอนและยกเลิกกฎระเบียบต่างๆที่ทำให้ประเทศไทยได้รับการยกเลิกใบเหลือง จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียฐานะการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมประมงระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ และจะส่งผลต่อชื่อเสียและภาพลักษณ์ของประเทศอีกด้วย

การปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงยังต้องคงอยู่ต่อไปในอนาคต หากประเทศไทยหวังจะสร้างอุตสาหกรรมประมงที่ยั่งยืน ถูกกฎหมาย และถูกต้องตามหลักมนุษยธรรมที่แท้จริง ในการก้าวต่อไปข้างหน้าการปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงควรได้รับการพิจารณาและตัดสินผ่านการปรึกษาหารือสาธารณะ การหารือเฉพาะกลุ่มแบบที่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยกระทำนั้น ขัดต่อผลประโยชน์และการรักษาสิทธิของชาวประมงพื้นบ้าน ชุมชนชายฝั่ง และระบบนิเวศน์และทรัพยากรทางทะเล

ในฐานะกลุ่มองค์กรมีความเกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเล ทั้งผู้ค้า ผู้แปรรูป ผู้ส่งออก รวมไปถึง ชาวประมงพื้นบ้าน และองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศและนานาชาติ เราขอความอนุเคราะห์ให้ท่านเข้ามาเร่งจัดการแก้ไขปัญหาความกังวลที่กำลังคุกคามอนาคตของอุตสาหกรรมประมงไทยและชุมชนท้องถิ่นที่มีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ผูกพันกับทะเลและทรัพยากรประมง

เรายังอยากขอเรียกร้องให้ท่านช่วยให้กระบวนการปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตเป็นการกระบวนการที่เปิดเผยและโปร่งใสและได้รับการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมจากชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ กระบวนการโปร่งใสนี้สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมการหารืออย่างมีประสิทธิภาพและการสร้างการมีส่วนร่วมแบบพหุนิยม

เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลไทยกำลังก้าวไปสู่อุตสาหกรรมประมงที่ยั่งยืน ถูกกฎหมาย และมีมนุษยธรรมด้วยความตั้งใจและอุตสาหะ ข้อเรียกร้องที่ขาดเหตุผลและเกินสมควรของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยกำลังทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ล้าหลังในขณะที่ประชาคมโลกกำลังก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมประมงที่ทวีความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสังคม

เราเรียนขอร้องให้รัฐบาลไทยช่วยรักษาการปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงและความสำเร็จเกิดขึ้นในสี่ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมประมงไทยเดินถอยกลับสู่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการถูกละเลยในหลายทศวรรษที่ผ่านมา

 

ด้วยความเคารพอย่างสูง

  • กรีนพีช (Greenpeace)
  • กลุ่มลูกเรือประมง (Fisherman Labour​ Group: FLG)
  • เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network: MWRN)
  • เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group: MWG)
  • ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง (Small-scale Fisherfolk Club of Trang)
  • ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล (Small-scale Fisherfolk Club of Satun)
  • เซนส์บิวรีส์ (Sainsbury’s)
  • บริษัท ลียง ซีฟู๊ด (Lyons Seafoods)
  • บริษัท ซีฟู้ด เลกาซี่ จำกัด (Seafood Legacy Co. Ltd.)
  • พันธมิตรอุตสาหกรรมอาหารทะเลแห่งสหราชอาณาจักร (UK Seafood Industry Alliance)
  • มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา (Foundation for Education and Development: FED)
  • มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Protection Network: LPN)
  • มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF)
  • มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) (Human Rights and Development Foundation: HRDF)
  • มูลนิธิมานุษยะ (Manushya Foundation)
  • มูลนิธิอันดามัน (Save Andaman Network)
  • มูลนิธิไอเจเอ็ม (IJM Foundation)
  • มอร์ริสันส์ (Morrisons)
  • ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน (Civil Society Organisation Coalition for Ethical and Sustainable Seafood)
  • เครือข่ายหยุดยั้งการค้ามนุษย์ออสเตเรีย (Stop the Traffik Australian Coalition)
  • ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล (Stella Maris Seafarers' Centre)
  • เวทโรส แอนด์ พาร์ทเนอร์ส (Waitrose & Partners)
  • สภาสิทธิแรงงานนานาชาติ (International Labor Rights Forum: ILRF)
  • สมาคมรักษ์เลกระบี่ (Krabi Sea Defenders Associations)
  • สมาคมดับบ้านดับเมือง (Dabban Dabmueang Association)
  • สมาคมสตรีชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ (Southern Fisherfolk Women Association)
  • สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย (Federation of Thai Fisherfolk Associations)
  • สมาคมรักษ์ทะเลไทย (Thai Sea Watch Association)
  • องค์การ เดอะ เนเจอร์ คอนเซอร์แวนซี (The Nature Conservancy)
  • องค์การจริยธรรมพื้นฐานทางการค้า (Ethical Trading Initiative: ETI)
  • องค์การฟรีด้อมฟันด์ (Freedom Fund)
  • องค์การฟรีด้อมยูไนเต็ด (Freedom United)
  • องค์การฟรีสไวส์ (Fishwise)
  • องค์การอเมริกาสีเขียว (Green America)
  • องค์การอ็อกแฟม อินเตอร์เนชั่นแนล (Oxfam International)
  • องค์การฮิวแมนนิตี ยูไนเต็ด (Humanity United)
  • ฮิวแมนไรท์วอทช์  (Human Rights Watch)

 

 

 

[1] EJF (2015) Pirates and Slaves: How overfishing in Thailand fuels human trafficking and the plundering of our oceans https://ejfoundation.org/resources/downloads/EJF_Pirates_and_Slaves_2015_0.pdf

[2] Department of European Affairs (5 June 2018) IUU : Thailand Update No. 2 IUU Facts & Figures www.mfa.go.th/europetouch/th/news/8359/90095-Thailand-Update-No.-2-IUU-Facts-&-Figures.html

[3] Thammasat Business Law Journal (2018) Thailand’s compliance with International Standards Against Illegal, Unreported, and Unregulated Fisheries https://www.tci-thaijo.org/index.php/TBLJ/article/view/112589

[4] International Organization for Migration (2011) Trafficking of Fishermen in Thailand https://publications.iom.int/system/files/pdf/traffickingoffishermenthailand.pdf

[5] U.S. State Department (2014) Trafficking in Person Report https://2009-2017.state.gov/j/tip/rls/tiprpt/2014/

[6] BBC (2014)  Forced to fish: Slavery on Thailand's trawlers https://www.bbc.com/news/magazine-25814718

[7] Associated Press (2015) US lets in Thai fish caught by slaves despite laws  https://www.ap.org/explore/seafood-from-slaves/us-lets-in-thai-fish-caught-by-slaves-despite-law.html

[8] International Organization for Migration (2011) Trafficking of Fishermen in Thailand https://publications.iom.int/system/files/pdf/traffickingoffishermenthailand.pdf

[9] Thammasat Business Law Journal (2018) Thailand’s compliance with International Standards Against Illegal, Unreported, and Unregulated Fisheries https://www.tci-thaijo.org/index.php/TBLJ/article/view/112589

[10] Bangkok Post (2018) Fishing for renewed aspects https://www.bangkokpost.com/business/1500074/fishing-for-renewed-respect

[11] The Nation (2019) Fishery sector buoyed up after EU lifts yellow card https://www.nationthailand.com/national/30361948

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.