รายงาน “การกล้าแสดงความเห็นเป็นเรื่องเสี่ยงอันตราย: การเอาผิดทางอาญากับการแสดงออกอย่างสงบในประเทศไทย” (“To Speak Out is Dangerous”: The Criminalization of Peaceful Expression in Thailand) ความยาว 136 หน้า (ซึ่งมีการแปลบทสรุปและข้อเสนอแนะเป็นภาษาไทย) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้อำนาจอย่างมิชอบตามกฎหมายและคำสั่งจำนวนมากที่มีการเขียนเนื้อหาให้ครอบคลุมทุกเรื่องและมีลักษณะคลุมเครือ ทั้งนี้เพื่อเอาผิดทางอาญากับการแสดงออกอย่างสงบ รวมทั้งการอภิปรายในประเด็นอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทั้งยังมีข้อเสนอแนะอย่างเป็นรูปธรรมให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายแหล่านี้ เน้นโดยเฉพาะช่วงระหว่างการทำรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 จนถึงการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม 2562 รายงานให้ข้อมูลการใช้กฎหมายและคำสั่งเผด็จการของรัฐบาลไทย เพื่อปราบปรามนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตย นักการเมืองฝ่ายค้าน ผู้วิจารณ์รัฐบาลทหาร และพลเมืองทั่วไป
“ช่วงเวลาห้าปีนับแต่การทำรัฐประหารในประเทศไทย เต็มไปด้วยร่องรอยการกดขี่ปราบปรามการแสดงความเห็นและการชุมนุมอย่างสงบ” ลินดา ลักธีระ (Linda Lakhdhir) ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำทวีปเอเชีย และผู้เขียนรายงานกล่าว “รัฐบาลต้องยุติการดำเนินคดีกับผู้วิจารณ์และผู้เห็นต่าง ซึ่งถือว่าขัดกับข้ออ้างที่ว่าได้มีการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยแล้ว”
แม้ว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลทหารจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 แต่รัฐบาลใหม่ก็ยังคงมีประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ส่วนผู้วิจารณ์อย่างสงบยังคงถูกจับกุมและดำเนินคดีโดยใช้อำนาจตามกฎหมายและคำสั่งหลายฉบับที่รัฐบาลทหารเคยใช้ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว
เนื้อหาของรายงานมาจากการสัมภาษณ์นักกฎหมาย สื่อมวลชน นักศึกษา นักเคลื่อนไหว เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน และบุคคลซึ่งถูกดำเนินคดีเนื่องจากการแสดงออกหรือการชุมนุม รวมทั้งครอบครัวของพวกเขา ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังวิเคราะห์คำฟ้องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เอกสารที่ใช้ระหว่างการพิจารณาคดีในศาล และรายงานของสื่อมวลชนเกี่ยวกับกระบวนยุติธรรมในคดีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการของโฆษกรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่น ๆ เป็นการวิเคราะห์เชิงลึกต่อมาตราต่าง ๆ ในประมวลกฎหมายอาญาของไทย รวมทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ และคำสั่งอื่น ๆ ที่ออกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายหลังการทำรัฐประหาร
กฎหมายซึ่งมีการนำมาใช้อย่างมิชอบมากสุดได้แก่มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา ในข้อหายุยงปลุกปั่น ทางการไทยมักปฏิบัติต่อการวิจารณ์อย่างสงบราวกับเป็นการยุยงปลุกปั่น ทำการจับกุมบุคคลซึ่งวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรี คนที่ด่าทอการทำงานของรัฐบาล หรือคนที่เพียงแต่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ดังที่ผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นคนหนึ่งกล่าวว่า “เราเพียงแต่เรียกร้องการเลือกตั้ง แต่กลับถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น” ทางการยังอ้างบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ เพื่อเอาผิดทางอาญากับข้อมูล “เท็จ” โดยทำการจับกุมผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจหรือในประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของรัฐบาล หรือเพียงแต่โพสต์ภาพ/ข้อความล้อเลียนเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีในโซเชียลมีเดีย
ผู้ประท้วงอย่างสงบหลายร้อยคนถูกจับ เนื่องจากขัดคำสั่งที่ประกาศใช้โดยรัฐบาลทหาร ซึ่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองของบุคคลห้าคนหรือกว่านั้น หรือเนื่องจากเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติที่เข้มงวดและตีความได้กว้างขวางของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ คนที่ถูกดำเนินคดีเนื่องจากการประท้วงอย่างสงบ ยังมักถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นและความผิดทางอาญาอื่น ๆ แม้รัฐบาลทหารจะยกเลิกข้อห้ามต่อการชุมนุมของบุคคลห้าคนหรือกว่านั้นเมื่อเดือนธันวาคม 2561 แต่ยังคงมีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อบุคคลที่ถูกจับกุมในข้อหานี้ต่อไป และแม้จะมีการถอนฟ้องข้อหาฝ่าฝืนการชุมนุม แต่หลายคนมักจะต้องถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นหรือความผิดอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการประท้วงต่อไป
ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ให้กดดันรัฐบาลไทยให้ถอนฟ้องคดีอาญาทั้งหมดที่มีอยู่ ซึ่งเป็นการดำเนินคดีต่อผู้แสดงออกและผู้ชุมนุมอย่างสงบ ให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งของรัฐบาลทหารทั้งหมดซึ่งควบคุมจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐาน และให้แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติของไทยให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม
“รัฐบาลใหม่ของไทยแทบไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะอดทนยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์มากกว่ารัฐบาลทหาร ซึ่งเป็นรัฐบาลก่อนหน้านี้” ลักธีระกล่าว “มิตรประเทศของไทยควรดำเนินการกดดันร่วมกันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก่อนที่การกดขี่หลายปีในช่วงรัฐบาลทหารจะฝังรากลึกมากยิ่งกว่านี้ โอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใต้รัฐบาลนี้กำลังปิดลงอย่างรวดเร็ว”